T.magnifica ถูกนำไปเทียบขนาดกับเหรียญ 10 เซนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 18 มม.

หากเราต้องการจะมองเห็นแบคทีเรียสักตัว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยขยายขนาดเล็กจิ๋วของจุลินทรีย์ให้ปรากฏต่อสายตาของคนเรา

.

แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า มีเซลล์แบคทีเรียที่ใหญ่เท่าขนตาของมนุษย์ และใหญ่กว่าขนาดโดยเฉลี่ยของแบคทีเรียทั่วไปถึง 5,000 เท่า โดยมันมีความยาวถึง 1 เซนติเมตร ซึ่งสามารถจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

.

ในขณะที่ T.magnifica ยาว 1 ซม. หมีน้ำทาร์ดิเกรดมีขนาด 0.5 มม. แมลงวันผลไม้ 3 มม. และแบคทีเรียทั่วไปมีความยาวเฉลี่ย 0.002 มม.

แบคทีเรียดังกล่าวมีชื่อว่า Thiomargarita magnifica (T. magnifica) มีถิ่นที่อยู่ในดินตะกอนและซากอินทรีย์เน่าเปื่อยที่ทับถมกันในป่าชายเลนของเกาะกัวเดอลูป (Guadeloupe) ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียน

.

ดร. ฌอง-มารี โวลลองด์ ผู้นำทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและทำการศึกษาแบคทีเรียยักษ์ดังกล่าว ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ Science ว่า แม้รูปร่างของมันจะดูน่ากลัว แต่ก็ไม่เป็นอันตรายและไม่เป็นเชื้อที่ก่อโรคกับมนุษย์แต่อย่างใด

.

T.magnifica กินซากอินทรีย์เน่าเปื่อยที่ทับถมในดินบริเวณรากของต้นโกงกาง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ T. magnifica มีถุงที่เป็นเนื้อเยื่อหุ้มเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอไว้โดยเฉพาะ ไม่ปล่อยให้ดีเอ็นเอล่องลอยกระจัดกระจายในไซโตพลาสม์ (cytoplasm) หรือของเหลวภายในเซลล์เหมือนกับแบคทีเรียชนิดอื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้แค่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจำพวกยูคาริโอต (eukaryote) เท่านั้น

.

ทีมผู้วิจัยเรียกถุงเก็บดีเอ็นเอนี้ว่า "เปปัง" (pepin) ซึ่งแปลว่าเมล็ดผลไม้ในภาษาฝรั่งเศส โดยแบคทีเรียยักษ์นี้ยังมีเบสที่เป็นองค์ประกอบของดีเอ็นเอจำนวนมหาศาลถึง 6 ล้านล้านตัว มากกว่ามนุษย์ที่มีเพียง 6 พันล้านตัวอยู่หลายเท่า เนื่องจากเซลล์ของแบคทีเรียยักษ์มีรหัสพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนมอยู่ถึง 500,000 ชุด

.

เซลล์ของ T.magnifica ที่เป็นเส้นยาว มีขนาดและลักษณะเหมือนกับขนตาของคนเรา

ในดีเอ็นเอที่บรรจุข้อมูลพันธุกรรมมากมายมหาศาลนี้ ทีมผู้วิจัยพบว่ายีนที่เพิ่มขนาดความยาวลำตัวของมันนั้นมีถึงสองชุด ส่วนยีนที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวของเซลล์นั้นกลับสูญหายไป

.

T.magnifica เป็นแบคทีเรียที่ใช้การสังเคราะห์ทางเคมีสร้างอาหารให้ตัวเอง โดยทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์สารประกอบกำมะถันจากซากพืชซากสัตว์ในดินตะกอนป่าชายเลน สร้างน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานให้เซลล์ได้

.

การดำรงชีวิตแบบนี้ทำให้มันต้องอาศัยยึดเกาะกับพื้นผิวที่เป็นของแข็ง เช่นเปลือกหอยนางรม ใบไม้ กิ่งก้านของต้นโกงกาง รวมทั้งเศษขยะพลาสติกที่พบได้เกลื่อนกลาดในปัจจุบัน

.

ป่าชายเลนบนเกาะในทะเลแคริบเบียน มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการดำรงชีวิตของแบคทีเรียยักษ์

อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียยักษ์ T.magnifica ยังไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยสิ่งมีชีวิตที่ครองแชมป์รายการนี้อยู่คือสาหร่าย Caulerpa taxifolia ซึ่งเซลล์ของมันมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/thailand-61921805