ศ.ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอันดับต้นๆของประเทศไทย น้ำยางพารา เป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีการนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์น้ำยางราคาตก จึงได้มีการนำน้ำยางมาวิจัย พัฒนา ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีทางออกที่ดีขึ้น

.

ศ.ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีวิสัยทัศน์คือ สถาบันชั้นนำด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ โดยมี ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กำหนดแนวทางเอาไว้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ จึงได้มุ่งเน้นงานนวัตกรรม วิจัย ใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้พร้อมๆไปกับการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัย เรื่องของการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นและพัฒนาสู่ระดับสากล โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่และยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ได้จริง และในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 Thailand Reseach Expo 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้นำเสนอผลงานวิจัยกระถางชีวมวลจากฟางข้าว เพื่อควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ยังมีงานวิจัย เครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ และนวัตกรรมยางพารานำมาทำเป็นหมอนขิดยางพารา

.

ผศ.ดร. สราวุธ ประเสริฐศรี หัวหน้าโครงการวิจัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยกระถางชีวมวลจากฟางข้าวเพื่อควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากการมองเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลกและพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะเหลือฟางข้าวที่ปล่อยทิ้งไว้ในแปลงนา ฟางข้าวเป็นวัสดุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ช้า ไม่ทันต่อการเตรียมแปลงนาในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ทำให้ฟางข้าวเป็นปัญหาและอุปสรรคในการไถเตรียมแปลงเพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมจัดการฟางข้าวด้วยการเผาทำลาย ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายความสมบูรณ์ของหน้าดินอีกด้วย อีกทั้งยังเกิดปัญญาหมอกควันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

.

งานวิจัยนี้จึงได้นำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดการเผาทำลายฟางข้าวที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของหน้าดิน โดยนำฟางข้าวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียมเป็นกระถางชีวมวลที่สามารถย่อยสลายได้เองทางธรรมชาติ โดยกระถางที่เตรียมได้ดังกล่าวสามารถใช้ปลูกพืชและสามารถย้ายลงดินได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกต้นไม้และกระถางออกจากกัน แต่อย่างไรก็ตาม ธาตุอาหารที่เกิดจากการย่อยสลายของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและวัสดุทางธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอและอาจต้องใช้เวลานานเพื่อรอให้เกิดการย่อยสลายและเปลี่ยนแปลงไป เป็นธาตุอาหารสำหรับพืช ทางทีมวิจัยจึงมีแนวคิดในการเติมปุ๋ยลงในกระถางและทำการควบคุมการปลดปล่อย โดยต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ของกลุ่มวิจัยที่เตรียมและศึกษาการใช้งาน Biodegradable IPN Hydrogels จากน้ำยางธรรมชาติพรีวัลคาไนซ์และแป้งมันสำปะหลังเป็นสารเคลือบปุ๋ยยูเรีย ทำให้สามารถควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารแก่พืชได้ยาวนานขึ้น พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำมาพัฒนาต่อในงานวิจัยนี้กล่าวคือ การใช้ IPN Hydrogels จากน้ำยางธรรมชาติและแป้งทางธรรมชาติมาใช้เป็นสารควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยยูเรียโดยการเคลือบที่ผิวของกระถางชีวมวลที่มีการเติมปุ๋ย เพื่อควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารได้ยาวนานขึ้น โดยศึกษาการเตรียมคอมโพสิตจากฟางข้าวและน้ำยางพรีวัลคาไนซ์ที่เคลือบด้วยไฮโดรเจล การเตรียมกระถางชีวมวลของคอมโพสิตจากฟางข้าวและน้ำยางพรีวัลคาไนซ์ และทดสอบการใช้กระถางชีวมวลจากฟางข้าวในการปลูกพืชเปรียบเทียบกับกระถางพลาสติกในทางการค้า

.

จากการศึกษาพบว่า เมื่อนำกระถางชีวมวลมาใช้มาปลูกพืช คือ โหระพาและดาวเรือง พบว่า การเคลือบไฮโดรเจลผสมปุ๋ยยูเรียในกระถางชีวมวลจะทำให้โหระพามีการเจริญเติบโตที่ดีทั้งขนาดของใบและความสูงของลำต้นดีกว่าการใช้กระถางพลาสติกและการเคลือบไฮโดรเจลผสมปุ๋ยยูเรียในกระถางชีวมวลจะทำให้ดาวเรืองมีใบที่มีขนาดใหญ่และสีใบมีความเขียวเข้มมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการปลดปล่อยยูเรียออกมา จากการเคลือบด้านในกระถางชีวมวลช่วยทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้ดี แต่อย่างไรก็ตามดาวเรืองที่ปลูกในกระถางชีวมวลที่เคลือบไฮโดรเจลมีการออกดอกช้ากว่าประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นผลมาจากปุ๋ยยูเรียที่ปลดปล่อยออกมาจากกระถางชีวมวลที่เคลือบไฮโดรเจลไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของใบและความสูงของต้น ทำให้เกิดการออกดอกและบานช้ากว่าดาวเรืองที่ปลูกในกระถางพลาสติกและกระถางชีวมวลจากฟางข้าวที่ไม่เคลือบไฮโดรเจล

.

นอกจากนี้การเคลือบกระถางชีวมวลจะช่วยลดการเกิดราและยืดอายุการใช้งานของกระถางชีวมวลได้อีกทางหนึ่งแล้วงานวิจัยนี้สามารถนำฟางข้าวเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นกระถางชีวมวลจากฟางข้าวและเคลือบไฮโดรเจลสำหรับควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยยูเรีย เพื่อใช้เป็นต้นแบบกระถางชีวมวลใช้ในการปลูกพืชอื่นๆและสามารถการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติต่อไป

.

หลังจากนี้ทางผู้วิจัยจะได้การพัฒนาเครื่องมือในการขึ้นรูปกระถางให้เป็นแบบ Manual ที่มีต้นทุนต่ำลงและเพิ่มโอกาสในการขยายผลสู่ชุมชนได้แต่ชุมชนไม่สามารถเตรียมสารเคลือบไฮโดรเจลที่ใช้เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการได้ แต่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการใช้ประโยชน์ในรูปแบบทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการหรือบริษัทที่มีความพร้อมในด้านห้องปฏิบัติการและทุนทรัพย์ นับได้ว่าเป็นการบูรณาการหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์และงานวิจัยในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้เกิดเศรฐกิจหมุนเวียนในชุมชนชาวสวนยางอย่างยั่งยืนตามหลักการ BCG model ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. สราวุธ ประเสริฐศรี โทร.089 4258239 , 045 353407 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000074458