สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย ภาพ ”ซากซูเปอร์โนวาเวลา” สุดอลังการฝีมือคนไทย ผลงานของผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) ประจำปี 2565

.
“ซากซูเปอร์โนวาเวลา” (The Vela Supernova Remnant) เป็นซากซูเปอร์โนวาขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้างประมาณ 100 ปีแสง อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 800 ปีแสงในกลุ่มดาวใบเรือ (Vela) นับเป็นหนึ่งในซากซูเปอร์โนวาที่อยู่ใกล้โลกที่สุด การระเบิดของเศษซากนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 11,000-12,300 ปีก่อน สสารกระจัดกระจายออกไปทุกทิศทาง และทิ้งใจกลางที่อัดแน่นเอาไว้เป็นดาวนิวตรอน

.

“ซูเปอร์โนวา” คือการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมากในช่วงสุดท้ายของชีวิต สสารที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์จะพุ่งกระจายออกไปทุกทิศทางด้วยความเร็วสูง เกิดแสงสว่างวาบที่อาจสว่างเป็นพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ก่อนจะค่อย ๆ จางหายไป ขณะที่ส่วนแก่นของดาวฤกษ์จะถูกอัดแน่นจนมีขนาดเล็กเพียง 20 กิโลเมตร แต่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1.4 เท่า มีองค์ประกอบเป็นนิวตรอนเกือบทั้งหมด จึงเรียกดาวดังกล่าวว่า “ดาวนิวตรอน” (Neutron star)

.

ปกติแล้วดาวนิวตรอนจะมีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงสูงมาก เมื่อมีอนุภาคที่มีประจุหลุดเข้าไปในสนามแม่เหล็กนี้ จะทำให้เปล่งแสงในช่วงคลื่นวิทยุออกมาบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็ก และถ้าหากขั้วของสนามแม่เหล็กไม่ตรงกันกับแกนการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอน จะทำให้แนวการเปล่งแสงส่ายไปเรื่อย ๆ คล้ายกับแสงที่เปล่งออกจากประภาคาร คนบนโลกจึงตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุจากวัตถุประเภทนี้ได้เป็นห้วงจังหวะสั้นๆ คล้ายกับชีพจร จึงเรียกดาวนิวตรอนประเภทนี้ว่า “พัลซาร์” (Pulsar)โดยพัลซาร์ที่อยู่ใจกลางเนบิวลาแห่งนี้มีชื่อว่า “Vela Pulsar” หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงถึง 11 รอบต่อวินาที นับเป็นหนึ่งในพัลซาร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการนักดาราศาสตร์เนื่องจากสามารถตรวจจับได้ง่าย และอยู่ท่ามกลางกลุ่มแก๊สเนบิวลาอันสวยงาม

.

รายละเอียดการถ่ายภาพ
วันที่ถ่ายภาพ : 1 ธันวาคม 2021 เวลา 19:00 น.
สถานที่ถ่ายภาพ : จังหวัดสระแก้ว
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : เลนส์ Askar ACL200, ขาตั้งตามดาว Ioptron CEM26, กล้อง ZWO1600MM
ความไวแสง : 135
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : ประมาณ 50 ชั่วโมง
ขนาดหน้ากล้อง : 50mm

.

ความยาวโฟกัส : 200mm
อัตราส่วนความยาวโฟกัส : F/4
เทคนิคการถ่ายภาพ : ใช้วิธีถ่ายภาพจำนวน 3 ส่วนและนำมาต่อกัน
ฟิลเตอร์ : Ha, OIII
ภาพ : รัตถชล อ่างมณี - ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)

ที่มา mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000076474