ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกๆ ปี ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในวันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"

.

และด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์นี้ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ไปพร้อมกัน

.

สำหรับความเป็นมาเสร็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

.

ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี ซึ่งพระองค์คำนวนไว้ว่า สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

.

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

.

และในช่วงวันกลางเดือนสิงหาคม หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมอุตุนิยมวิทยา จะร่วมมือกันจัด “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ”เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุกๆ ปี โดยในปีนี้ ได้มีการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 13-21 สิงหาคม ณ ฮอลล์ 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000078988