หมู่นี้เรามักจะได้ข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติตามธรรมชาติที่เกิดแทบทุกวันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในจีนและพม่า ภูเขาดินโคลนถล่มในเปรูและเนปาล พายุทอร์นาโดที่โหมกระหน่ำรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟระเบิดที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สึนามิคุกคามญี่ปุ่น ไฟป่าลุกลามในออสเตรเลียและบราซิล ตลอดไปจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมรอระบายในพื้นที่นับแสนไร่ในประเทศไทย

.

ข่าวลักษณะนี้ได้ทำให้เราทุกคนตระหนักว่า ภัยธรรมชาติกับภัยที่มนุษย์มีส่วนในการสร้างขึ้นนั้น มีหลากหลายรูปแบบ และภัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกหนแห่งอย่างไม่มีการเตือนให้คนทั่วไปได้รู้เนื้อรู้ตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ จึงทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต เศรษฐกิจ และสุขภาพจิตของสังคมอย่างมหาศาล และเมื่ออุบัติแล้วก็จะมีผลทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีพยายามหาหนทางแก้ไข และหาวิธีบรรเทาภัยพิบัติเหล่านี้ ด้วยการศึกษาธรรมชาติให้เข้าใจถ่องแท้ขึ้น เพื่อสามารถพยากรณ์ภัยได้ว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มากหรือน้อยเพียงใด เกิด ณ ที่ใด เวลาใด และจะรุนแรงเพียงใด รวมถึงให้รู้ด้วยว่า สิ่งมีชีวิตชนิดใด (คน สัตว์ พืช) จะล้มตายบ้าง ตลอดจนถึงการให้รู้ด้วยว่าหลังจากที่ภัยยุติบทบาทแล้ว ทุกชีวิตจะได้รับการเยียวยาและการฟื้นฟูอย่างไร และประการสุดท้าย มนุษย์เราจะมีวิธีป้องกันหรือต่อสู้กับภัยที่ธรรมชาติบันดาล และภัยที่มนุษย์เนรมิตเองได้หรือไม่

.

ทุกวันนี้ เรามีเทคโนโลยีสำรวจระยะไกล เช่น การใช้ดาวเทียมสำรวจสภาพของอากาศ ทะเล และพื้นดิน เพื่อติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของเมฆ สังเกตดูพายุที่กำลังก่อตัว วัดความเร็ว และรู้ทิศการเคลื่อนที่ของมัน จนสามารถจะบอกได้ว่าพายุ เช่น cyclone มีพลังในการทำลายล้างมากเพียงใด ข้อมูลที่ได้จึงจะช่วยให้เราสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะผู้คนจะมีเวลาอพยพออกจากสถานที่ที่พายุจะเคลื่อนที่ผ่านก่อนที่มันจะมาถึง สำหรับกรณีภัยบนดิน เราก็ยังมีอุปกรณ์วัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินก่อนที่ภูเขาไฟจะระเบิด และมีทุ่นลอยในทะเล เพื่อเตือนภัยสึนามิ อุปกรณ์เตือนภัยเหล่านี้จะช่วยให้ความสูญเสียลดน้อยลงได้มาก

.

แต่ความพร้อมของสังคมทุกระดับชั้น และความทันสมัยของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตือนภัยก็ยังมิได้มีพร้อมทั่วทุกหนแห่ง โดยเฉพาะในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมักถูกภัยธรรมชาติคุกคามบ่อยยิ่งกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นเมื่อใดที่ฟ้าพิโรธ หรือธรณีโกรธ และทะเลกริ้ว ความเสียหายที่เกิดตามมาก็จะรุนแรงมหาศาล เพราะโครงสร้างของการบริหารจัดการภัยไม่ดี

.

ดังเหตุการณ์น้ำท่วมหนักมากใน ประเทศปากีสถาน ขณะนี้ ทั้งๆ ที่ลางร้ายของเหตุการณ์นี้ได้เริ่มปรากฏตั้งแต่เดือนมิถุนายน แล้วความรุนแรงของภาวะน้ำหลากก็ได้เพิ่มขึ้น ๆ ตลอดมาจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งมีผลทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศต้องจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คน 33 ล้านคน (ประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ) ประสบความเดือดร้อน เพราะพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 4 ล้านไร่ถูกทำลาย สัตว์ 8 แสนตัวล้มตาย อาคารบ้านเรือน 1.2 ล้านหลังถูกน้ำท่วม ถนน 5,000 สายถูกตัดขาด สะพาน 240 แห่งทรุดพัง โรงพยาบาล 180 แห่งไม่สามารถให้บริการรักษาคนไข้ได้ ภาวะอาหารขาดแคลนที่ติดตามมาได้ทำให้ประชากร 27 ล้านคนอดอยาก สำหรับคนที่รอดชีวิตนั้นก็ต้องประสบปัญหาค่าครองชีพสูง เพราะอาหารมีราคาแพง และไม่เพียงพอ นอกจากนี้ก็มีการระบาดของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกด้วย

.

เมื่อความวินาศสันตะโรที่กำลังเกิดขึ้นมีความรุนแรงมากเช่นนี้ องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และรัฐบาลอังกฤษ จึงได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยการนำอาหารและยาเวชภัณฑ์มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทมาช่วย รัฐบาลจีนก็ได้ส่งเครื่องบินนำสัมภาระ และอาหารที่จำเป็นมาลงที่สนามบินในกรุง Karachi เพื่อให้รัฐบาลปากีสถานนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่กำลังจะล้มตาย สำหรับจำนวนคนที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น ก็มีมากถึง 1,200 คน และ 400 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็ก

.

ในการค้นหาสาเหตุของอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดแห่งศตวรรษของปากีสถานนั้น นักอุตุนิยมวิทยาได้เคยรายงานการเห็นลางร้ายตั้งแต่เดือนเมษายนว่า มีวันหนึ่งที่อุณหภูมิในเมือง Jacobabad ซึ่งอยู่ในแคว้น Sindh มีค่าสูงถึง 51 องศาเซลเซียส จากเดิมที่เคยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 40 องศาเซลเซียส สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประเทศมีฝนตกหนักมากนั้น ก็เพราะมวลอากาศร้อนในเดือนเมษายนปีนี้ สามารถโอบอุ้มความชื้นได้ดี ด้วยเหตุนี้ฝนในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจึงตกในปริมาณมากกว่าปกติ นอกจากนี้อากาศร้อนยังได้ทำให้ธารน้ำแข็งบนยอดเขา K2 (ที่สูง 8,611 เมตร เป็นอันดับสองของโลก รองจากยอดเขา Everest) ในเทือกเขา Karakoram ของปากีสถาน ได้ละลายอย่างรวดเร็ว สายน้ำหลากที่เกิดขึ้นจึงไหลลงตามไหล่เขา เข้าสู่แม่น้ำ Hunza แล้วไหลต่อสู่แม่น้ำ Indus (แม่น้ำสินธุ) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของชาวปากีสถานมาตั้งแต่สมัยอารยธรรม Harappa ในยุคพุทธกาล การไหลอย่างรุนแรงของกระแสน้ำได้พัดพาโคลน ดิน และก้อนหินตลอดระยะทางให้ไหลตามไปด้วย กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากการมีภาวะความดันอากาศต่ำเหนือทะเลอาหรับ (Arabian Sea) ด้วย จนมีผลทำให้บรรดาเมืองที่ตั้งอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเลมีฝนตกชุก โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นฤดูมรสุม เมื่อปัจจัยต่าง ๆ ได้ทำงานประสานกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้ ในปีนี้ปากีสถานจึงมีปริมาณฝนตกมากเป็น 5 เท่าของปริมาณที่เคยตกตามปกติ

.

นอกจากนี้ประเทศก็ยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ La Niña (ลานีญา) ที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่ผิวมีค่าต่ำ ซึ่งได้ช่วยเพิ่มปริมาณฝนตกในทุก 2-7 ปีด้วย สถิติที่ได้จากการสำรวจตั้งแต่ปี 1952-2009 ได้แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิของอากาศในปากีสถานได้เพิ่มขึ้น 0.3 องศาเซลเซียสในทุก 10 ปี ทั้ง ๆ ที่ปากีสถานเป็นประเทศที่ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้น้อยกว่า 1% ของทั้งโลก นั่นแสดงว่าผลกระทบอันเนื่องจากอากาศร้อนที่มีต่อประเทศปากีสถานมีสาเหตุมาจากการกระทำของบรรดาชาติอื่น ๆ มากกว่าชาติของตนเอง ด้านองค์กรประเมินภัยอันเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็ได้จัดให้ปากีสถานเป็นประเทศที่มีโอกาสสูงเป็นอันดับ 8 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้

.

เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้ António Guterres ซึ่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในปัจจุบัน ได้แสดงความกังวลว่าโลกของเรากำลังเผชิญภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพยากร รวมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ๆ ตลอดเวลา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัย และการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในบรรดาประเทศที่ด้อยพัฒนาก็ยังมีปัญหาเรื่อง เสถียรภาพทางการเมืองบ่อย จนทำให้ไม่มีใครสนใจเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาภัยพิบัติของแต่ละประเทศจึงไม่ได้รับการเหลียวแล ด้านทางราชการก็ได้ปล่อยให้ประชาชนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่มีแนวโน้มจะมีภัยคุกคามชีวิตค่อนข้างสูง โดยไม่ได้กล่าวเตือนใด ๆ คนเหล่านั้นจึงต้องประสบภัยชีวิตอย่างไม่รู้ตัว

.

แม้ปัญหาของปากีสถานส่วนหนึ่งจะเกิดจากการบริหารจัดการ แต่ความหนักหนาสาหัสในภาพรวมก็ยังไม่มากเท่าความเดือดร้อนที่ชาวปากีสถานกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ และจะต้องต่อสู้กับมันต่อไปอีกนานในอนาคต

.

ย้อนอดีตไปก่อนที่ปากีสถานจะเผชิญปัญหาน้ำท่วมทั้งประเทศนั้น ใน ปี 2022 ที่รัฐ North Carolina ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 ก็มีพายุเฮอริเคน ชื่อ Florence ซึ่งได้พัดกระหน่ำจนทำให้ประชากร 1.5 ล้านคน ต้องอพยพหนีเอาตัวรอด เพราะพายุ Florence ได้ทำให้เมือง Elizabethtown จมอยู่ในน้ำลึก 1 เมตร เป็นเวลานาน 4 วัน และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน พายุยังได้สร้างความเสียหายมูลค่านับหลายหมื่นล้านบาทด้วย แม้พายุจะสลายตัวไปเป็นเวลานานแล้ว แต่สภาพจิตใจของชาวเมืองที่ประสบเคราะห์กรรมก็ยังไม่กลับคืนมาเหมือนเดิม เพราะทุกคนรู้ดีว่า เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น พายุในอนาคตจะรุนแรงขึ้น ฝนจะตกมากขึ้น และน้ำก็จะท่วม Elizabethtown อีก

.

และในปี 2018 เดียวกัน ที่แคว้น Kerala ในอินเดีย ก็มีพายุฝนตกมากเช่นกัน จนมีคนเสียชีวิต 470 คน ซึ่งลางร้ายของภัยพิบัติครั้งนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลุถึงเดือนสิงหาคม ก็ปรากฏว่าปริมาณฝนได้ตกมากกว่าปกติถึง 164% ดินโคลนจากภูเขาได้เลื่อนไถลลงถล่มทับอาคารที่อยู่อาศัย มีผลทำให้ชาวเมืองกว่า 1 ล้านคนต้องอพยพ การวิเคราะห์สาเหตุและผลของเหตุการณ์นี้ แสดงว่าพายุฝนเกิดจากอากาศเหนือแคว้นมีความชื้นสูง และความชื้นสูงนี้ก็เกิดจากอากาศร้อน โดยที่ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศก็จะเพิ่มมากขึ้น 7% ซึ่งก็ตรงกับที่องค์การ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้เคยสรุปไว้ว่า

.

เมื่อต้นเดือนกันยายน ซูเปอร์ไต้ฝุ่น Hin Nam Nor ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ได้พัดผ่านเมือง Busan ไปในวันอังคารที่ผ่านมา และกำลังเคลื่อนที่ต่อไปสู่ประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านทางเกาะ Okinawa ด้วยความเร็วประมาณ 148 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไต้ฝุ่นลูกเดียวกันนี้ เมื่อครั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์มีชื่อว่า Henry ก็ได้ทำให้ชาวฟิลิปปินส์บนเกาะ Luzon ต้องเสียชีวิตไป 1 คน

.

ความจริงคำว่า ไต้ฝุ่น เฮอริเคน ไซโคลน ล้วนเป็นชื่อย่อยของชื่อหลัก คือ cyclone ซึ่งการจะมีชื่อเช่นไร ก็ขึ้นกับสถานที่ที่ให้กำเนิดพายุนั้น ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือและเอเชีย พายุมีชื่อเรียกว่า ไต้ฝุ่น แต่ในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกและอ่าวเม็กซิโก พายุมีชื่อว่า เฮอริเคน

.

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้รายงานความเสียหายที่เกิดจากไต้ฝุ่น Hin Nam Nor คือ อาคารบ้านเรือนในเมือง Busan สองหมื่นหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ คน 3,400 คน ต้องอพยพออกจากเมือง เพราะฝนตกน้ำท่วมมาก ลมพายุที่มีความเร็วถึง 196 กิโลเมตร/ชั่วโมงนี้ ได้ทำให้เสาไฟฟ้า ต้นไม้ และถนนหนทาง ฯลฯ ถูกทำลาย ปริมาณฝนที่ตกหนักทำให้น้ำท่วมเมืองสูงถึง 1 เมตร โรงเรียน 600 แห่ง ต้องหยุดสอน เที่ยวบินกว่า 250 เที่ยวถูกยกเลิก ท่าเรือกว่า 70 แห่ง หยุดให้บริการ เรือหาปลาและเรือทัศนาจรที่จะเดินทางไปเกาะ Je Ju ก็หยุดทำงาน

.

คำถามต่อไปที่น่าสนใจ คือ ในขณะที่สภาพอากาศทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรง และความเลวร้ายเช่นนี้ คนทั่วไปควรจะระมัดระวังเรื่องสุขภาพอย่างไร เพราะการเตรียมร่มเวลาจะออกจากบ้าน และการเตรียมกระสอบทรายเพื่อวางกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านคงไม่เพียงพอ นอกจากนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ยังมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของทุกคนด้วย

.

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ Ken Graham แห่งองค์กร National Weather Service ของอเมริกาได้เสนอให้บรรดาคนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่น้ำท่วมบ่อยยกของมีค่า และเฟอร์นิเจอร์ขึ้นที่สูง และแนะให้ซื้อประกันภัยน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมจะทำลายอาคารบ้านเรือนจนเสียหายและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป Graham ยังกล่าวอีกว่า นอกจากจะมีปัญหาน้ำท่วมแล้ว ลมร้อนที่มักเกิดก่อนฝนจะตกหนักก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งต้องอาศัยอยู่ในบริเวณคับแคบที่ไม่มีการระบายอากาศที่ดี จึงทำให้อุณหภูมิของห้องที่อาศัยมีค่าสูงกว่าปกติ จนมีผลทำให้คนสูงวัยเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตก็ได้ อนึ่งคนเหล่านี้เวลามีพายุรุนแรงจะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก ดังนั้นจึงมีอารมณ์เครียด เพราะไม่สามารถจะออกไปซื้ออาหารหรือยาได้ และถนนหนทางก็มีน้ำท่วม ทำให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีหน่วยบรรเทาภัยช่วยจัดการเรื่องนี้ ท้ายที่สุด Graham ได้กล่าวสรุปว่า ภัยอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วมีจริง และจะมีอยู่กับโลกเราไปอีกเป็นเวลานาน เพราะสภาพดิน ฟ้า อากาศ ณ วันนี้แตกต่างจากสภาพอากาศเมื่อ 20 ปีก่อนมากเพียงใด ในอนาคตอีก 20 ปี ความร้ายแรงและความรุนแรงก็จะมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่มีวิธีป้องกันภัยโลกร้อน

.

ในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้มีการระเบิดของภูเขาไฟ Pinatubo ส่งเถ้าถ่าน ฝุ่นละออง และแก๊ส suffur dioxide ที่เป็นพิษลอยขึ้นไปในบรรยากาศถึงชั้น stratosphere ฝุ่นละอองนับล้านตันได้บดบังแสงอาทิตย์บางส่วนนานเป็นปี และมลวัตถุนี้ได้สะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปในอวกาศ จนมีผลทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง 0.5 องศาเซลเซียส แต่ภาวะการลดอุณหภูมินี้ก็ไม่มีจีรังยั่งยืน เพราะแก๊สและฝุ่นได้สลายตัวไป เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักเทคโนโลยีหลายคนมีความคิดจะทำวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก โดยให้แก๊ส suffur dioxide และวัสดุ เช่น กระจกที่มีขนาดใหญ่มากสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไปสู่อวกาศ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลง แต่เทคโนโลยีนี้ต้องการทุนสูงมาก และแก๊ส suffur dioxide จะทำลายชั้นโอโซน นอกจากนี้กระจกที่ใช้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะอวกาศด้วย ดังนั้นโครงการนี้ จึงได้ล้มเลิกไป

.

ความคิดเรื่อง geo-engineering (วิศวกรรมโลก) นี้ ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นตามลำดับ เมื่อนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าโลกของเราจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่วงการอุตสาหกรรมในทุกประเทศปลดปล่อยออกมานั้น จะคงอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลานานนับ 1,000 ปี ดังนั้นนักเทคโนโลยีจึงคิดจะใช้วิธีดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากบรรยากาศ แต่เทคนิคก็ยังไม่ได้ผลดี ดังนั้นวิธีที่เหลือก็คือ ทุกชาติจะต้องลดการผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

.

ในปี 2001 สนธิสัญญาโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองที่กรุง Kyoto ในญี่ปุ่น ได้มี 40 ประเทศลงนามว่าจะลดการปลดปล่อยปริมาณแก๊ส CO2 ลง 5.2% ภายในปี 2012 แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้ เพราะมี 21 ประเทศในจำนวนนี้กลับเพิ่มการปลดปล่อยแก๊ส CO2 ออกมามากขึ้น โดยจีนและอเมริกาเป็นชาติที่ทำผิดข้อตกลงมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ความมุ่งหวังในอนาคต คือ โลกจะต้องมีอุณหภูมิสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เพราะถ้าอุณหภูมิสูงกว่านั้นสภาพแวดล้อมของโลกจะถูกทำลาย ภัยแล้งที่รุนแรงจะบังเกิด ชายฝั่งทะเลจะถูกกัดเซาะจนทรุด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงจนท่วมเมืองที่ตั้งอยู่ติดทะเล และการทำเกษตรกรรมจะไม่ได้ผล โลกจะสูญเสียสิ่งมีชีวิตในปริมาณมาก ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะสูญพันธุ์ นี่จึงเป็นเรื่องวิกฤต และมีแนวโน้มจะแก้ไขได้ยาก เพราะทั้งจีนและอินเดียจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากในการให้ประชากรของชาติหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้นการจะให้ประเทศทั้งสองลดการทำอุตสาหกรรม จึงเปรียบเสมือนการสั่งให้ฆ่าคนในชาติของตน และนั่นก็อาจจะหมายถึงการล่มสลายของประเทศต่าง ๆ เหมือนดังเหตุการณ์การล่มสลายของอารยธรรมโบราณที่ได้เคยเกิดเมื่อนานมากแล้ว อันเป็นผลเนื่องจากสภาพดิน ฟ้า อากาศได้เปลี่ยนแปลงมาก เช่น เมื่อ 4,200 ปีก่อน อาณาจักร Akkadian ใน Mesopotamia ได้ล่มสลาย เพราะต้องเผชิญภาวะอากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานเป็นศตวรรษ

.

เมื่อ 4,200 ปีก่อน อาณาจักร Akkadian ในMesopotamia ได้ล่มสลาย เพราะต้องเผชิญภาวะอากาศแห้งแล้งติดต่อกันนานเป็นศตวรรษ

.

เมื่อ 3,800 ปีก่อน อาณาจักร Harappa ในปากีสถาน ก็ล่มสลาย เพราะพายุมรสุมได้ทำให้เกิดภัยน้ำท่วมทั่วทั้งอาณาจักร

.

เมื่อ 3,100 ปีก่อน อาณาจักรอียิปต์ ได้ล่มสลาย เพราะประสบภัยแล้งเป็นเวลานานนับศตวรรษเช่นกัน

.

เมื่อประมาณค.ศ.250-500 อาณาจักรโรมัน ได้ประสบภาวะอากาศแปรปรวนมาก จนทำให้เกิดเหตุการณ์ทุพภิกขภัย เพราะการทำเกษตรกรรมไม่ได้ผล ท้องฟ้ามีเมฆ แต่ฝนไม่ตก ผู้คนจำนวนมากขาดอาหารและล้มตายไป เพราะถูกโรคระบาดคุกคาม อาณาจักรถูกรุกราน และได้ล่มสลายไปในที่สุด

.

เมื่อประมาณค.ศ.800-1400 อาณาจักรขอมก็ล่มสลาย เพราะถูกน้ำท่วมหนัก และภาวะภัยแล้งได้เกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

.

เมื่อประมาณค.ศ.1500 อาณาจักร Maya ก็ประสบภัยแล้งเป็นเวลานาน และได้ล่มสลายไปด้วยเหตุผลอันเดียวกัน

.

ข้อควรสังวรณ์ก็คือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเลวร้ายได้ทำให้หลายอารยธรรมโบราณในอดีตต้องล่มสลาย สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วในปัจจุบันก็สามารถทำลายอารยธรรมของมนุษย์ได้เช่นกัน

.

อ่านเพิ่มเติมจาก “Why extreme rains are gaining strength as the climate warms” โดย Alexandra Witze ในวารสาร Nature ฉบับที่ 563 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2018

.

ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9650000086587