ในบรรดาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลก 17 หัวข้อ ที่สมาชิกสหประชาชาติยืนยันจะร่วมกันแก้ให้ได้ภายในปี 2030
.
เรื่องใหญ่สุดที่กำลังเป็นภัยร้ายแรงคุกคามต่อสภาพธรรมชาติของชีวิต คน สัตว์ และพืชทั่วโลก ถึงขั้นหลายสายพันธุ์มีแนวโน้มสูญพันธุ์ !
.
นั่นคือวิกฤตผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือClimate Change ซิ่งตรงกับเป้าหมายข้อ13 “รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “
.
แล้วตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร?
.
IPCC คณะกรรมการร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ( Intergovernment Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกและโปรแกรมสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ ได้มีรายงานฉบับฉบับที่ 6 เมื่อเร็วๆ นี้
.
รายงานการประเมินครั้งนี้ยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสังคมมนุษย์ทุกพื้นที่ทั่วโลก มากกว่าที่เคยประเมินครั้งก่อน ทั้งในเชิงขอบเขต และขนาดความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดในอนาคตก็หนักหนากว่าเช่นกัน
.
ผลกระทบหลายลักษณะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีมากในสังคมเมือง ที่มีประชากรมากกว่าครึ่งของโลกอาศัยอยู่
.
การเกิดคลื่นความร้อน ที่ทำให้เมืองเสมือนเตาอบขนาดใหญ่
.
มลพิษทางอากาศ ก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้คน
.
ภัยธรรมชาติที่รุนแรง ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุร้าย ที่เกิดบ่อย หลายภูมิภาค
.
ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหยุดชะงัก เช่น ระบบขนส่ง การสุขาภิบาล น้ำกินน้ำใช้และพลังงาน เมืองที่อยู่ชายฝั่งทะเลยิ่งมีความเสี่ยงมาก จากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง ที่เคยช่วยป้องกันผู้คนจากพายุ และลมฝนรุนแรง
.
รายงานระบุว่า แม้มีมาตรการเพื่อปรับตัวต่อภาวะอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งความคืบหน้าในแต่ละภูมิภาคก็ไม่เท่ากัน แล้วระบุว่า
.
“ในความเป็นจริง เรายังไม่ได้พยายามมากเท่าที่ควร เพื่อไปถึงจุดที่จำเป็น เมื่อเทียบกับภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีรายได้น้อย ซึ่งอุปสรรค ไม่ได้มีเฉพาะการขาดเงินทุน แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกด้วย”
.
รายงานฉบับนี้เตือนเราถึงผลอันน่ากลัว หากยังมีภาคส่วนที่ยังเฉื่อยชาอยู่ต่อไป ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรง ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมชีวิตทั้งปวง
.
ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน GCNT ได้เผยแพร่บทความที่อ้างรายงานดัชนีโลกที่มีชีวิต(Living Planet) ฉบับล่าสุดปี 2020 ของกองทุนสัตว์ป่าสากล(WWF) ซึ่งติดตามความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต 20,811กลุ่ม ใน 4,392 สายพันธุ์ทั่วโลก ก็ได้ข้อมูลว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ลดลงเฉลี่ยถึง 68% ระหว่างปี 1970- 2016
.
เป็นการสนับสนุนหลักที่ว่า จำนวนประชากรสิ่งมีชีวิต คือตัววัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เมื่อพบว่าความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกกำลังลดลงในอัตราที่ต่างกัน
.
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ในภูมิภาคเขตร้อนอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งน้ำจืด ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลง ในอัตราที่รวดเร็วกว่าในมหาสมุทรหรือในพื้นที่ป่า
.
ไม่เฉพาะประชากรสัตว์ที่ลดลงเฉลี่ย 68% แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชก็กำลังลดลงอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงคุกคามระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมูลค่าอันล้ำค่าที่พืชได้มอบให้ทุกคนและโลกใบนี้
.
ตัวอย่างใกล้ตัวที่น่าห่วง คือ กาแฟอาราบิก้า เมล็ดกาแฟที่มีผู้นิยมมากที่สุดในโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน แต่การประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้จัดให้กาแฟอาราบิก้า เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยคาดว่าจำนวนตามธรรมชาติมากกว่าครึ่งจะสูญหายไปภายในปี 2088
.
ยิ่งกว่านั้น จากการประเมินตัวอย่างหลายพันชนิด ที่มีความหลากหลายตามภูมิศาสตร์ของพืชทั่วโลก พบว่า 1 ใน 5 (ประมาณ 22%) กำลังถูกคุกคามจากแนวโน้มการสูญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พืชที่อยู่ในเขตร้อน
.
ที่สำคัญ เมื่อปี 2016 มีการสำรวจและประเมินสถานภาพการถูกคุกคามของสัตว์มีกระดูกสันหลัง 2,276 สายพันธุ์ในประเทศไทย พบว่า สิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 8 สายพันธุ์ สายพันธุ์อีก 569 สายพันธุ์อยู่ในสภาพถูกคุกคาม 282 สายพันธ์ุมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ อีก185 สายพันธุ์อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ และ102 สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
.
ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว เป็นสัญญาณเตือนภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่หล่อเลี้ยงโลกเรามา
.
ข้อคิด….
จากข้อมูลการศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านรายงานของหน่วยงาน IPCC น่าจะช่วยให้สังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคม ได้ตระหนักรู้ และตื่นตัว ดำเนินการเร่งด่วน ปรับวิธีการ คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมา ผสานกับภูมิปัญญา ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิต ที่คำนึงถึงการไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันเยียวยาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้ดีขึ้นโดยเร็ว
.
ทั้งนี้ก็เพื่อสังคม และโลกของเรา ให้ดีขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีผลต่อคนทุกคนจะอยู่รอดปลอดภัย ก็ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือมีความสมดุลของระบบนิเวศที่ดีต่อทรัพยากรธรรมชาติ และเกื้อกูลสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์์
.
● ข้อมูลอ้างอิงจาก; สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
Global Compact Network Thailand : GCNT
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000092237