ภาพจำลองไมโทคอนเดรียที่ถูกตัดขวาง (สีเหลือง) ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งภายในเซลล์
นักวิทยาศาสตร์เจอโอกาสที่คนเราจะมีวิวัฒนาการรูปแบบใหม่ ๆ หลังพบว่าดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย (mitochondrial DNA) สามารถสอดแทรกเข้าไปอยู่ในจีโนมมนุษย์ได้เอง ซึ่งขณะนี้ยังพบได้ในทารกแรกเกิด 1 คน จากทุก 4,000 คน
.
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยทางสรีรวิทยาและพันธุศาสตร์จำนวนหนึ่งชี้ว่า มนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ซึ่งบ่งชี้ว่าคนเราในปัจจุบันยังคงสามารถมีวิวัฒนาการต่อไปอีกได้ แต่ก็ยังไม่ทราบชัดว่าวิวัฒนาการสู่อนาคตดังกล่าวจะเกิดขึ้นด้วยกลไกแบบใดกันแน่
.
ล่าสุดทีมนักวิจัยในโครงการ “หนึ่งแสนจีโนม” (100,000 Genomes Project) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่น่าทึ่งลงในวารสาร Nature โดยระบุว่าการวิเคราะห์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเด็กจาก 11,000 ครอบครัว ชี้ว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ดีเอ็นเอจากไมโทคอนเดรีย สอดแทรกเข้าไปอยู่ในจีโนมหรือพันธุกรรมชุดหลัก แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นลักษณะที่เด็กไม่ได้รับสืบทอดมาจากพันธุกรรมของฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่เลย
.
ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) เป็นอวัยวะขนาดเล็กของเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตพลังงานและมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียจะตกทอดสู่ลูกหลานผ่านการถ่ายทอดพันธุกรรมฝ่ายแม่เท่านั้น แต่ไม่นานมานี้กลับมีการค้นพบว่า ในบางกรณีดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียสามารถถ่ายทอดผ่านการสืบสายเลือดฝ่ายพ่อได้เช่นกัน
.
การสอดแทรกพันธุกรรมจากไมโทคอนเดรียเข้าไปในจีโนม พบได้กับทารกแรกเกิด 1 คน ในทุก 4,000 คน
การที่ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียสามารถเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ และสอดแทรกหลอมรวมเข้ากับจีโนมหรือพันธุกรรมชุดหลักทั้งหมดของมนุษย์ในนิวเคลียสได้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ยีนของคนเราจะเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้มีวิวัฒนาการรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น
.
การสอดแทรกทางพันธุกรรมระหว่างไมโทคอนเดรียกับนิวเคลียสของเซลล์นี้ เดิมเชื่อว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว หลังพันธุกรรมของแบคทีเรียเข้าสู่นิวเคลียสในเซลล์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่การที่กลุ่มตัวอย่างไม่ได้รับสืบทอดลักษณะนี้มาจากพันธุกรรมของฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่เลย แสดงว่ากระบวนการดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งช่วยยืนยันว่ามนุษย์ยังคงมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิวัฒนาการผ่านกลไกนี้อยู่
.
ศาสตราจารย์ แพทริก ชินเนอรี ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวอธิบายว่า “ดีเอ็นเอจากไมโทคอนเดรียที่แทรกเข้าไปในนิวเคลียสนั้น ทำหน้าที่เหมือนเป็นพลาสเตอร์สมานแผล ช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอชุดหลักในจีโนมที่แตกหักเสียหาย”
.
“ตามปกติแล้ว ดีเอ็นเอจากไมโทคอนเดรียที่เข้าไปในนิวเคลียสจะถูกกดไว้ไม่ให้แสดงออก แต่ก็มีความเสี่ยงราว 1 ใน 1,000 ที่ดีเอ็นเอเหล่านี้จะเกิดการกลายพันธุ์ที่ส่งผลร้าย ทำให้เกิดโรคมะเร็งและโรคทางพันธุกรรมที่หาพบยากได้” ศ. ชินเนอรีกล่าว
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cydq74jgng2o