เลือดเทียมจะเป็นอีกความหวังใหม่หรือไม่

นักวิจัยสหราชอาณาจักรได้นำเลือดเทียมที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิต เพื่อทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกของโลก

.

เลือดเทียมที่ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ในการทดลองครั้งนี้ มีปริมาณเพียงน้อยนิด เทียบเท่าปริมาณ 2-3 ช้อนชาเท่านั้น โดยเป็นการทดลองเพื่อตรวจสอบว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้เหมือนเลือดจริงในตัวมนุษย์หรือไม่

.

เป้าหมายสูงสุดของการสังเคราะห์เลือดเทียมในห้องทดลอง คือ การผลิตเลือดกรุ๊ปที่หายากมาก ๆ ที่แทบหาผู้บริจาคเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้โรคโลหิตจาง ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ

.

คนไข้ที่มีเลือดกรุ๊ปหายากนั้น หากได้รับเลือดที่ร่างกายไม่ตอบรับ อาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้ เลือดที่ต้องเข้ากันได้ถึงในระดับเนื้อเยื่อ ไม่ใช่เลือดกลุ่มทั่วไป เช่น เอ บี เอบี และโอ

.

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยอมรับว่า เลือดที่ใช้ในทางการแพทย์ทั่วไปนั้น ยังต้องพึ่งพาการบริจาคเลือดของประชาชนต่อไป แม้จะผลิตเลือดเทียมที่ใช้งานได้จริงสำเร็จแล้วก็ตาม

.

ศาสตราจารย์ แอชลีย์ โทเย จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักรระบุว่า เลือดบางกลุ่ม“หายากมาก ๆ” ในสหราชอาณาจักร“อาจมีแค่ 10 คน” ที่บริจาคได้

.

ยกตัวอย่าง เลือดกลุ่ม "บอมเบย์” ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีเลือดเพียง 3 ยูนิตอยู่ในคลังเลือดของสหราชอาณาจักร

.

สังเคราะห์เลือดเทียมอย่างไร

.
การเพาะเลือดเทียมนี้ เป็นความร่วมมือของทีมงานในเมืองบริสตอล เมืองเคมบริดจ์ กรุงลอนดอน และหน่วยเลือดและการปลูกถ่าย ของระบบประกันสุขภาพสหราชอาณาจักร (NHS) โดยมุ่งเน้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเทียมที่สามารถนำพาออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

.

กระบวนการผลิตเลือดเทียม มีขั้นตอน ดังนี้

.

- ทีมวิจัยเริ่มจากเลือดปริมาณ 470 มิลลิลิตรที่ได้รับบริจาค
- ใช้อนุภาคแม่เล็กเพื่อดึงสเต็มเซลล์ ที่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ออกมา
- เพาะสเต็มเซลล์เหล่านี้ จนเติบโตในปริมาณมากในห้องทดลอง
- กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เพาะไว้ ให้กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง

.

เซลล์เม็ดเลือดแดงที่เกิดจากการสังเคราะห์

กระบวนการเพาะเลือดเทียมใช้เวลาปริมาณ 3 สัปดาห์ โดยสามารถเพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ 50 ล้านเซลล์ ต่อสเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้ราว 5 ล้านเซลล์

.

จากนั้น ทีมวิจัยจะคัดแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงราว 15 ล้านเซลล์ ที่พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ได้

.

“เราต้องการสร้างเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต ในจินตนาการของผม มองเห็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตเลือดออกมาต่อเนื่องจากเลือดที่ได้รับบริจาค” ศ.โทเย บอกกับบีบีซี

.

ผู้เข้ารับการทดลอง

.
ทีมวิจัยได้ฉีดเลือดเทียมเข้าไปในร่างกายผู้เข้ารับการทดลอง 2 คน โดยตั้งเป้าจะทดลอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างน้อย 10 คน แต่ละคนจะเข้ารับเลือด 5-10 มิลลิลิตรในทุก ๆ 4 เดือน สลับกันระหว่างเลือดปกติและเลือดเทียมที่เพาะในห้องทดลอง

.

เลือดเทียมที่ใช้ทดสอบนั้น จะใช้การติดตามด้วยสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบทางการแพทย์ตามปกติ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถติดตามได้ว่า เลือดเทียมสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานแค่ไหน และมีความหวังว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเลือดปกติเสียอีก

.

ปกติแล้ว เซลล์เม็ดเลือดแดงจะอยู่ได้นานราว 120 วัน ก่อนที่จะถูกทดแทน โดยทั่วไป เลือดที่รับบริจาคมานั้น มีทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุน้อย และอายุมากแล้ว แต่ถ้าเป็นเลือดเทียม จะเป็นเลือดที่สดใหม่ และสามารถอยู่ได้นานถึง 120 วัน ดังนั้น การผลิตเลือดเทียมที่สดใหม่ได้นั้น จะช่วยให้ในอนาคตไม่ต้องขอรับบริจาคเลือดบ่อยเท่ากับในปัจจุบัน

.

เลือดเทียม

อย่างไรก็ดี โครงการผลิตเลือดเทียมมีความท้าทายเรื่องการเงินและเทคโนโลยีอยู่มาก เพราะ ต้นทุนการรับบริจาคเลือดต่อครั้งอยู่ที่ 130 ปอนด์ หรือ 5,500 บาท แต่เลือดเทียมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั้นมาก ซึ่งทีมวิจัยไม่ระบุว่า สูงมากแค่ไหน

.

ความท้าทายอีกประการ คือ สเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้นั้น ้ต้องหมดอายุขัยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่เพาะออกมาได้นั้น มีจำกัด จึงยังต้องวิจัยให้สามารถเพาะเลือดในปริมาณมากพอที่จะใช้ในทางการแพทย์ได้

.

ดร. ฟาร์รุคห์ ชาห์ ผู้อำนวยการหน่วงานด้านเลือดและการปลูกถ่ายของ NHS ระบุว่า “งานวิจัยระดับโลกนี้ จะวางพื้นฐานสำหรับการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถนำไปถ่ายให้กับในประชาชนที่มีปัญหา อาทิ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวได้”

.

“ศักยภาพของงานวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยที่รับการถ่ายเลือดได้ยาก”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cyxrzny742no