คพ.ส่งเสริมการเปลี่ยนขยะกำพร้า ไม่ให้กำพร้า โดยการส่งไปกำจัดทิ้งอย่างถูกต้อง ล่าสุดเปิดโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” พร้อมนำร่องส่งมอบขยะกำพร้า 2 ตัน ให้เอสซีจีนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน

.

ขยะกำพร้า คำนิยามของขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ขยะพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น เช่นบรรดาหีบห่อพลาสติกต่างๆ ถุงแกง ถุงน้ำยา ซองขนม กล่องโฟม แปรงสีฟัน นั่นทำให้ขยะชนิดนี้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางของขั้นตอนการกำจัดที่ถูกวิธี

.

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” เพื่อนำขยะกำพร้าส่งบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) นำไปแปรรูปเป็นพลังงาน โดยมี นายมงคล พรชื่นชูวงศ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) เป็นผู้รับมอบ

.

อธิบดี คพ. กล่าวว่า การจัดทำโครงการ “ขยะไม่กำพร้า” สืบเนื่องมาจากปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ยังมีการทิ้งขยะรวมกันทุกประเภท ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระในการกำจัดขยะจำนวนมาก และเมื่อมีการคัดแยกขยะแล้ว ยังมีขยะส่วนที่เหลือซึ่งเรียกว่าขยะกำพร้าอีกจำนวนมากที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอน ปลอกหมอน มุ้ง ชุดชั้นใน ถุงน่อง ถุงเท้า เป็นต้น ซึ่งขยะเหล่านี้ หากมีการเก็บรวบรวมในปริมาณมาก จะสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานได้

.

คพ.ร่วมกับ SCG จัดทำโครงการนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว โดย คพ. ได้เชิญชวนเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานนำขยะกำพร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมารวบรวมให้มีปริมาณมากพอ จนคุ้มค่าต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการเผาเป็นพลังงาน ซึ่งในปี 2565 มีผู้นำขยะกำพร้ามาบริจาคจำนวน 2 ตัน คพ.จะนำขยะกำพร้าเหล่านี้ส่งมอบให้ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG) ขนส่งไปยังโรงไฟฟ้า มาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานต่อไป

.

"กิจกรรมนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการลด และคัดแยกขยะ ณ ต้นทาง เพื่อให้เกิดรากฐานการจัดการขยะที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างกลไกความร่วมมือจากภาคส่วน โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถเป็นต้นแบบขยายไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครัวเรือน เป็นการสร้างวินัยในการคัดแยกขยะ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบในสถานที่กำจัดขยะ นำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตพลังงาน" นายปิ่นสักก์ กล่าว

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000113131