Philippines US Military Drone - ScanEagle

ความนิยมในการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากเทคโนโลยีนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ พัฒนาและนำเทคโนโลยีต่อต้านโดรนมาช่วยแก้ปัญหานี้บ้างแล้ว

.

การใช้งานโดรนสำหรับทางการทหารและบุคคลทั่วไปได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความกังวลด้านความปลอดภัยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่น สนามบิน เรือนจำ และโครงข่ายไฟฟ้า บริษัทเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จึงได้พัฒนาความสามารถในการระบุและจัดการภัยคุกคาม เพื่อรับมือจากโดรนที่เป็นอันตราย

.

หนึ่งในตัวอย่างภัยคุกคามจากโดรน เกิดขึ้นในปี 2013 ขณะที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้น กำลังร่วมงานที่จัดกลางแจ้ง ปรากฏว่ามีโดรนที่บินอยู่เหนือศีรษะ ตกดิ่งลงในระยะใกล้กับตัวของเธอ จนทำให้งานที่ดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงัก

.

แมร์รี่ ลู สโมลเดอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดจากบริษัท Dedrone อธิบายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “มันไม่มีอะไรมากนัก เป็นเพียงโดรนที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ”

.

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย เมื่อโดรนที่เป็นอากาศยานไร้คนขับ ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่เสี่ยง กรณีดังกล่าว ได้กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งบริษัท Dedrone ที่ปัจจุบันนี้เป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีในการรับมือโดรน ที่มีลูกค้าหลายร้อยราย ที่มาจากมากกว่า 35 ประเทศ

.

สโมลเดอร์ อธิบายกลไกการทำงานของเทคโนโลยีต่อต้านโดรนนี้ว่า “วิธีหลักที่เราตรวจจับโดรน คือการใช้เซ็นเซอร์เพื่อจำแนกสัญญาณความถี่วิทยุ”

.

Dedrone Launches Low Collateral Counter-Drone Jammer for Urban Environments

ลูกค้าของบริษัท Dedrone ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เฝ้าระวังโดรน จะได้รับการแจ้งเตือนจากทีมรักษาความปลอดภัยเมื่อระบบตรวจพบว่ามีโดรนต้องสงสัยบินเข้ามาสู่น่านฟ้า และหากโดรนลำดังกล่าวมีท่าทีที่เข้าข่ายเป็นอันตราย เครื่องมือเฝ้าติดตามของบริษัทจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาตำแหน่งของบุคคลที่ควบคุมโดรนเพื่อที่จะทำการสื่อสารโดยตรง

.

แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรง อย่างเช่นภาวะสงคราม ลูกค้าสามารถที่จะทำให้โดรนหยุดบินได้ โดยใช้ปืนยาว เพื่อยิงคลื่นรบกวนและบังคับให้โดรนร่อนลงอัตโนมัติ

.

จอห์น เคนอจ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีด้านการป้องกันจากบริษัท Dedrone ระบุว่า “อุปกรณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า DroneDefender เป็นตัวส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ การใช้งานคือเล็งเป้าไปที่โดรนที่เข้ามาในน่านฟ้า เลือกโหมดการควบคุม และทำการเหนี่ยวไก วิธีการนี้จะเข้ารบกวนสัญญาณระหว่างโดรนกับตัวบังคับ”

.

การใช้งานโดรนเติบโตมากขึ้น ความพยายามที่จะป้องกันผู้ไม่หวังจำนวนหนึ่งที่พยายามจะใช้งานโดรนในทางที่ผิดก็มากขึ้นตามไปด้วย

.

มิเรียม แมคนาบ บรรณาธิการจากเว็บไซต์ Dronelife.com เผยว่า “เราต้องการเทคโนโลยีระบบต่อต้านโดรนในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์เติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว”

.

ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญมองว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จะเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/logon-counter-drone-technology-prevents-malicious-drones-from-doing-harm/6839803.html