“Sustainnovation” นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) จัดทำขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่พลิกผันได้ชั่วข้ามคืน เนื่องด้วยในวันนี้ มนุษย์เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 มิติสำคัญ นั่นคือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านเศรษฐกิจ ที่เกิดเป็นประเด็นปัญหาและความท้าทาย ได้ทวีคูณตามระยะเวลาและความซับซ้อน อันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และการดำรงอยู่ของทุกชีวิตโลกใบนี้

.

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นและน่าหวาดวิตกมีมากมาย อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทั้งรุนแรงและเพิ่มความถี่มากขึ้นกว่าในอดีต ทำลายล้างทั้งทรัพยากรและสิ่งมีชีวิต ส่วนปัญหาทางสังคมมีทั้งซับซ้อนและมีแง่มุมใหม่ๆ ที่ยากจะแก้ไข เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของคนในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ส่งผลกระทบมากมายต่อคุณภาพชีวิต และปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นโจทย์ใหญ่เฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข

.

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC)

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) กล่าวว่า RISC มุ่งหวังว่า หนังสือ “Sustainnovation” เล่มนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์สำหรับทุกคนซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ความรู้จากหนังสือเล่มนี้จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainnovation ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ระดับเมือง ระดับประเทศ และระดับโลก รวมทั้ง สามารถนำความรู้จากกระบวนการคิด การวิจัยและตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจไปต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิตบนโลกใบนี้ (For All Well-Being)

.

เนื้อหาในหนังสือมีการจำแนกนวัตกรรมเป็น 6 หมวด ดังนี้ 1. สุขภาวะ (Health & Wellness) นวัตกรรมด้านสุขภาพ ที่ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีด้านร่างกาย และจิตใจ 2. สิ่งแวดล้อม (Environment) นวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกรวน มลภาวะทางน้ำ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ 3. การจัดการทรัพยากร (Resource management) นวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 4. พลังงาน (Energy) และนวัตกรรมด้านพลังงาน นำเสนอแนวทางการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต 5.การขนส่ง (Transportation) นวัตกรรมด้านการขนส่ง ที่ช่วยลดผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาขยะ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Active Mobility) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดแนวโน้มของการแพร่กระจายเชื้อ และ 6. การบริโภคอาหาร (Food Consumption) นวัตกรรมด้านการบริโภคอาหาร ที่ช่วยสร้างทางเลือกด้านอาหารที่มีความยั่งยืน รวมถึงตัวอย่างการใช้ทรัพยากรอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด

.

พร้อมทั้ง ได้เปิดมุมมองเรื่อง “Sustainnovation” โดย 10 กูรูจากสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร บุคลากรทางการแพทย์ นักพัฒนาสิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกสิ่งในอนาคต

.

ยกตัวอย่าง รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา RISC มองว่า “ความยั่งยืน” ในอนาคต จะต้องประกอบด้วย “การปรับตัว (Resilience)” มากขึ้น ดังนั้น “Sustainnovation” จะต้องเป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากในอนาคต

.

ขณะที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) มองว่า ไม่มีอะไรที่ “ใหญ่” เกินไปจนมนุษย์เราไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ และไม่มีอะไรที่ “เล็ก” จนเกินกว่าที่เราจะต้องมองข้าม ทุกอย่างมีความสำคัญ และเราทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยให้เกิด “นวัตกรรม” เพื่อความยั่งยืนต่อตัวเรา โลกของเรา และสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติได้ในอนาคต

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000002655