ก่อนวันแห่งความรักเพียงวันเดียว (วันวาเลนไทน์) คือ “วันรักนกเงือก” บทเรียนสอนความรัก การใช้ชีวิตคู่ แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต เสมือนแบบอย่างเตือนใจให้มนุษย์รู้จักตระหนักคำว่า รักแท้นั้นฉันใด
.
ทว่าอีกมุมหนึ่งของนกเงือกที่สร้างประโยชน์มหาศาลต่อระบบนิเวศป่า สิ่งแวดล้อม รวมถึงมนุษย์โลก หลายคนยังไม่รู้ว่า “นกเงือก” คือกลไกสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หากใครรู้แล้วก็เชื่อว่าจะทำให้คนหันมาใส่ใจถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป
.
เหตุผลดังกล่าว “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไป เข้ามาร่วมอนุรักษ์นกเงือก พร้อมกับได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือกของประเทศไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แต่ปีนี้งดจัดกิจกรรม แต่ว่าทุกท่านสามารถมีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกได้ โดยสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากนกเงือก ร่วมอุปการะครอบครัวนกเงือก เข้าไปชมรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก THAILAND HORNBILL PROJECT
.
อย่างไรก็ตามอยากย้ำให้รู้ว่า ผืนป่าในเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย มาจนถึงปีนี้ เรายังมีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 13 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- นกกก (Great Hornbill)
- นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)
- นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
- นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
- นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
- นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
- นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
- นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
- นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)
.
นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราหันมาตระหนักถึงส่วนเล็กๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติสืบไป
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000013925