เหตุการณ์แสนโรแมนติกที่คนสองคนมาประสบพบเจอกันโดยบังเอิญ แล้วต่างก็ตกหลุมรักอีกฝ่ายเพียงในชั่ววินาทีที่ได้มองตากัน อาจฟังดูเหมือนนิยายชวนฝัน แต่ก็มีหนุ่มสาวหลายคู่ที่ออกมายืนยันว่า เคยมีประสบการณ์รักแรกพบที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาแล้ว

.

เรื่องราวของความรักที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นนี้ ชวนให้สงสัยว่าอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกับคนเราได้หรือไม่ หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายอย่างไร เพื่อพิสูจน์ว่ารักแรกพบนั้นเป็นของจริงแท้หรือเพียงภาพลวงตา

.

รักหรือใคร่ ?
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สของสหรัฐฯ ชี้ว่าความรักสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอารมณ์ความรู้สึกสามประเภทในสามช่วงเวลา ได้แก่ราคะ (lust) หรือความต้องการทางเพศ, ความรู้สึกดึงดูดใจ (attraction), และความผูกพันยึดติด (attachment)

.

อารมณ์ทั้งสามประเภทนี้ผสมปนเปในสัดส่วนที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกัน โดยจะค่อย ๆ มีพัฒนาการจากราคะไปสู่ความผูกพัน จนสามารถประกอบสร้างขึ้นมาเป็นรักแท้ได้ในที่สุด

.

อย่างไรก็ตาม บทความทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Endocrinology and Metabolism เมื่อปี 2016 ระบุว่าอารมณ์ทั้งสามที่เป็นองค์ประกอบของความรักนั้น ต่างแยกกันเกิดขึ้นในกระบวนการทางสมองที่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง โดยแต่ละอารมณ์มีวงจรการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทเป็นของตนเอง

.

ฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน ซึ่งควบคุมโดยสมองส่วนอะมิกดาลาที่เป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้คนเราเกิดความใคร่หรือความต้องการทางเพศขึ้นได้ ส่วนความรู้สึกดึงดูดใจที่มีต่อเพศตรงข้าม ถูกควบคุมโดยศูนย์การให้รางวัลและความเครียดในสมอง โดยมีสารสร้างความสุขโดพามีน, ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน, และฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลเป็นสารสื่อประสาท สำหรับความรู้สึกผูกพันยึดติดนั้น ฮอร์โมนออกซิโทซินและวาโซเพรสซินจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก

.

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงมองว่ารักแรกพบนั้นยังไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกของรักแท้ แต่เป็นเพียงการถูกดึงดูดใจโดยฝ่ายตรงข้ามในระยะแรก ซึ่งยังไม่ครบองค์ประกอบของกระบวนการทางสมองที่จะก่อให้เกิดความรักโดยสมบูรณ์

.

ดร. เดบอราห์ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ชาวอังกฤษ กล่าวอธิบายในประเด็นนี้กับเว็บไซต์ Live Science ว่า “ความรักต้องใช้เวลาในการก่อกำเนิดและพัฒนาไปสู่ความรู้สึกที่มั่นคงลึกซึ้ง นักจิตวิทยาส่วนใหญ่จึงมองว่า รักแรกพบที่เกิดขึ้นเมื่อเพียงแรกสบตากันนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน คุณอาจหลงใหลในรูปลักษณ์และรู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศอย่างมากในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเราจะตกหลุมรักกับนิสัยใจคอ รวมทั้งคุณค่าที่ยึดถือและทักษะต่าง ๆ ที่คนผู้นั้นมีอยู่แทน”

.

ด้าน ดร.อีริก ไรเดน นักจิตวิทยาคลินิกชาวอังกฤษฟันธงว่า รักแรกพบนั้นที่แท้เป็นเพียงความใคร่หรือราคะเท่านั้น “ความรู้สึกหลงใหลเหมือนต้องมนต์อยู่ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าหากคุณกำลังมองหาคู่ชีวิตที่จะอยู่กันไปนาน ๆ รักแรกพบไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกว่าเขาหรือเธอคือคนที่ใช่ มันเป็นเพียงแรงดึงดูดทางกาย มากกว่าจะเป็นความรักโรแมนติกที่ยั่งยืน”

.

รักหรือเสพติด ?
ดร. ไรเดนอธิบายเพิ่มเติมว่า “ความรักส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก ในขณะที่เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มผสมกับความคิดหมกมุ่น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขหรือโดพามีนเพิ่มมากขึ้น ส่วนฮอร์โมนออกซิโทซินนั้นได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก เพราะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกอบอุ่น ผูกพัน และไว้เนื้อเชื่อใจกัน”

.

“สารเคมีเหล่านี้มักจะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลาที่คนสองคนเกิดความรู้สึกผูกพันระหว่างกันขึ้นมาแล้ว มากกว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะต้นที่มีแต่ความต้องการและแรงดึงดูดทางเพศ”

.

ดร. ลี กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะแรกของความรักหรือที่บางคนคิดว่าเป็นรักแรกพบนั้น มีความคล้ายคลึงกับการติดสารเสพติดอยู่ไม่น้อย โดยสมองของคนที่เริ่มมีความรักจะถูกกระตุ้นในบริเวณเดียวกันกับสมองของคนที่เสพโคเคน

.

“เมื่อคนที่เริ่มมีความรักใส่ใจหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของคนที่ใฝ่ฝันหา อารมณ์จะเหวี่ยงสลับขั้วไปมา รู้สึกคลั่งไคล้คล้ายจะเป็นบ้า กระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างหุนหันพลันแล่น ใช้ชีวิตอยู่ในโลกของความฝันมากกว่าความเป็นจริง บางคนอาจถึงกับมีพฤติกรรมต้องพึ่งพาอาศัยคนรักอย่างมาก ไม่ต่างจากคนติดยาเสพติด” ดร. ลีกล่าว

.

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Psychology เมื่อปี 2016 ชี้ว่าอาการคล้ายติดยาเสพติดเช่นนี้จะจางหายไปเองได้ เมื่อความสัมพันธ์ของคู่รักได้พัฒนาจนล่วงเลยขั้นตอนนี้ไป หลังจากที่คบหากันเป็นเวลานานหลายปี

.

นอกจากนี้ ความทรงจำที่ถูกบิดเบือนเมื่อเวลาผ่านไป ยังอาจทำให้คู่รักที่อยู่ด้วยกันมานานหลงผิด คิดว่าพวกตนต่างก็ตกหลุมรักกันและกันตั้งแต่แรกเห็นได้ ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาใช้เวลาและความพยายามเนิ่นนานกว่าจะมีรักแท้

.

งานวิจัยเมื่อปี 2012 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neuroscience ชี้ว่าความทรงจำของคนเราอาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเมื่อหวนรำลึกถึงความหลัง และจะยิ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป เนื่องจากได้รับอิทธิพลของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเหตุการณ์นั้น

.

งานวิจัยเมื่อปี 2018 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience ชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า คู่รักซึ่งอยู่ด้วยกันมานานบางรายอาจมีภาวะ “ภาพลวงตาเชิงบวก” (positive illusion) จนทำให้ทัศนคติที่มีต่ออีกฝ่ายนั้นดีเกินความเป็นจริง โดยพวกเขามองข้ามความขัดแย้งและข้อระแวงสงสัยต่าง ๆ ไปจนหมด เสมือนว่ามองโลกผ่านแว่นสีชมพูกุหลาบอยู่ตลอดเวลา

.

ภาวะเช่นนี้อาจทำให้คู่รักฟ้าประทานเข้าใจไปเองว่า พวกตนเกิดมาเพื่อกันและกันตั้งแต่ต้น และพรหมลิขิตทำให้ตกหลุมรักกันอย่างง่ายดายตั้งแต่แรกพบ โดยมองไม่เห็นความเป็นจริงที่ว่า พวกเขาต้องใช้เวลาและความพยายามปลูกต้นรักและฝ่าฟันอุปสรรคกันมานานขนาดไหน

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cgrnez3e388o