ทีมนักวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ชี้ว่าการนอนหลับอย่างมีคุณภาพนั้นสำคัญยิ่งกว่าการนอนแค่ให้เพียงพอตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด โดยคนที่นอนหลับง่าย หลับติดต่อกันได้นาน และรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นขึ้นมา มีแนวโน้มว่าจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้อื่น ทั้งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคมะเร็งน้อยกว่ามากด้วย

.

มีการนำเสนอผลวิจัยข้างต้นในการประชุมระดับโลกด้านหทัยวิทยา (World Congress of Cardiology) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์แฟรงก์ เฉียน หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยบอกว่า พวกเขาได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพที่สำรวจจากประชากรชาวอเมริกัน 172,321 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้อยู่ในวัยราว 50 ปีโดยเฉลี่ย และมีการติดตามเก็บข้อมูลเป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน ระหว่างปี 2013-2018

.

ผลปรากฏว่าทีมผู้วิจัยพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างคุณภาพของการนอนหลับ กับอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยสาเหตุต่าง ๆ โดยการตายถึง 8% ในการสำรวจครั้งนี้ มาจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีแบบแผนการนอนหลับที่ไม่ดี ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการประเมินว่ามีพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีนั้น มีอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุต่ำกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

.

ทีมผู้วิจัยประเมินกลุ่มตัวอย่างในเรื่องการนอนอย่างมีคุณภาพ โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 ประการ ได้แก่การนอนเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อคืน, มีปัญหาหลับยากไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์, มีปัญหานอนหลับติดต่อกันได้ไม่นาน ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์, ไม่ใช้ยานอนหลับ, และรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นขึ้น ไม่น้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์

.

กลุ่มตัวอย่างที่ได้คะแนนประเมินคุณภาพการนอนสูง เนื่องจากมีแบบแผนการนอนหลับตรงตามปัจจัยบวก 5 ประการข้างต้น มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยทุกสาเหตุต่ำกว่าผู้อื่น 30% ทั้งยังเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดและหัวใจต่ำกว่าคนทั่วไป 21% เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งน้อยกว่า 19% และเสี่ยงเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น ๆ เช่นโรคสมองเสื่อม การติดเชื้อ หรืออุบัติเหตุต่ำกว่าผู้อื่นถึง 40%

.

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ได้คะแนนเต็มในการประเมินคุณภาพการนอนหลับ ยังมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) มากกว่าเพื่อน โดยผู้ชายในกลุ่มนี้มีอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้อื่น 4.7 ปี ส่วนผู้หญิงในกลุ่มเดียวกันมีอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้อื่น 2.4 ปี

.

ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่า เหตุใดอายุคาดเฉลี่ยของผู้ชายที่นอนหลับอย่างมีคุณภาพ จึงสูงกว่าผู้หญิงที่มีพฤติกรรมการนอนแบบเดียวกันถึงสองเท่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

.

นพ. เฉียน กล่าวสรุปว่า “หากผู้คนสามารถสร้างนิสัยหรือแบบแผนในการนอนอย่างมีคุณภาพได้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยขจัดสิ่งรบกวนการนอนออกไปให้มากที่สุด รวมทั้งรักษาสุขอนามัยในการนอนเป็นอย่างดี มันจะส่งผลบวกต่อสุขภาพของพวกเขาอย่างมากในระยะยาว”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cw0ek6w6r5xo