ปรากฎการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี
ค่ำคืนแรกของฤดูใบไม้ผลิทางอุตุนิยมวิทยา มนุษย์โลกจะได้เห็นดาวพฤหัสบดี (Jupiter) และดาวศุกร์ (Venus) ปรากฏเคียงกัน จนเหมือนสัมผัสกันเหนือท้องฟ้า หรือปรากฎการณ์ “ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี”
.
ปรากฎการณ์ในค่ำคืนนี้ เรียกว่า “ตำแหน่งร่วมทิศ” หรือ “การชุมนุมดาวเคราะห์” ในทางดาราศาสตร์ คือการที่ดาวเคราะห์สองดวงมีตำแหน่งปรากฎอยู่ใกล้กัน ไม่ว่าจะใกล้กับดวงจันทร์ ดาว หรือดาวเคราะห์ดวงอื่น
.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายถึงปรากฎการณ์นี้ว่า “ดาวเคราะห์ชุมนุม” คือ ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา
.
โดยการวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย
.
ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
.
ครั้งนี้ แสงจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ที่สว่างจ้ามากที่สุด จะปรากฏแสงเจิดจ้า เป็นปรากฎการณ์สวยงามทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้า ตามข้อมูลจากนาซ่า
.
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนยังจะได้เห็นดวงจันทร์ที่สว่างจ้าที่สุดของดาวพฤหัสบดี 4 ดวงด้วย
.
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์ ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นในทางสายตา แต่ในความเป็นจริง ดาวสองดวงนี้ห่างกันถึง 600 ล้านกิโลเมตร
.
ปรากฎการณ์ “เคียงกันของดาวเคราะห์” เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบสุริยะจักรวาล เพราะ “ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระนาบใกล้เคียงกันตามสุริยวิถี ดังนั้น พวกมันจึงมีแนวทางโคจรที่ใกล้เคียงกัน” นาซ่า ระบุ
.
ระหว่างที่ดาวเคราะห์สองดวงนี้มาบรรจบใกล้กัน “แม้จะไม่มีความสำคัญทางดาราศาสตร์อะไรนัก... แต่เป็นภาพสวยงามที่น่าชม” นาซา กล่าว
.
ประชาชนทั่วโลกสามารถเห็นปรากฎการณ์นี้ได้ในฟากฟ้าฝั่งตะวันตก หลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่ขอให้ตรวจสอบเวลากับหน่วยงานทางดาราศาสตร์ท้องถิ่นถึงเวลาที่แน่ชัด
.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อมูลบนเพจเฟซบุ๊กถึงปรากฎการณ์ “ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี” ว่า ช่วงหัวค่ำ 1-3 มี.ค. จะมีปรากฎการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมทางทิศตะวันตก
.
คนไทยชมได้หลัง 2 ทุ่ม
“ผู้สนใจสามารถชมความสวยงามของวัตถุท้องฟ้าดังกล่าวได้ ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม สว่างเด่นสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย”
.
ดาวศุกร์ปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ทางทิศตะวันตกบริเวณกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มี.ค. ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่เหนือดาวศุกร์ ห่างประมาณ 0.8 องศา
.
จากนั้นวันที่ 2 มี.ค. ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 0.6 องศา และในวันที่ 3 มี.ค. ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 1.4 องศา และค่อย ๆ ทำมุมห่างออกจากกันมากขึ้นหลังจากนี้
.
ผู้สนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถสังเกตเห็นได้โดยง่ายเนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองมีความสว่างโดดเด่นมากบนท้องฟ้าในช่วงหัวค่ำ
.
หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง ประชาชนสามารถเห็นปรากฎการณ์นี้ได้ด้วยตาเปล่า แต่หากใช้กล้องส่องทางไกล หรือกล้องโทรทรรศน์ จะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น
.
เนื่องจากปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงกันจะอยู่ในระนาบต่ำจากเส้นขอบฟ้า จึงแนะนำให้ไปชมอยู่บนเนินเขา ที่ไม่มีตึกสูงบดบังสายตา เพื่อชมปรากฎการณ์ได้ชัดขึ้น
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c72x7n63yx9o