มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำนวัตกรรม “กังหันน้ำคีรีวง” สู่แผนการจัดการน้ำชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช พัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากประสิทธิภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)” ตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลจากพลังงานสะอาด

.

ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ใช้ระยะเวลา 4 ปี ในการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นคีรีวง รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากประสิทธิภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)” ที่เป็นการพัฒนาโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ชื่อ “กังหันน้ำคีรีวง”

.

จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการพัฒนาและสร้าง “กังหันน้ำคีรีวง” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการทางพัฒนากังหันน้ำที่ผลิตไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ทั้งขนาด 300 วัตต์ 1 กิโลวัตต์ 3 กิโลวัตต์ ไปจนถึงการต่อยอดพัฒนาจากกังหันพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ไปสู่กังหันน้ำผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ออกแบบใช้งานได้ที่ระดับความสูงหัวน้ำต่ำ ๆ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น จากการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้ระบบที่จ่ายไฟฟ้าได้มากกว่า 3 กิโลวัตต์ ซึ่งหมายถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้ตู้เย็น การใช้ตู้แช่เพื่อแช่แข็งทุเรียน เป็นต้น

.

ในอนาคตเพื่อให้การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของประเทศมีความยั่งยืน ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนปฏิรูปพลังงาน รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ข้อ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการ “การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ที่จะต่อยอดจากการใช้งานกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชนคีรีวง ไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชทั้งหมด ที่ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา

.

จากงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี มาเป็นการพัฒนานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร วันนี้กังหันน้ำคีรีวงกำลังทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช สู่เครือข่ายการจัดการน้ำและพลังงานสะอาดที่จะช่วยทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นแหล่งทรัพยากรที่จะสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000021214