ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปีพ.ศ.2559 ที่จะมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติภายในปีพ.ศ.2573 (เมื่อเทียบกับปีฐาน พ.ศ.2550)

.

ต่อมาในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties : COP26) ในปีพ.ศ.2564 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นประกาศยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปีพ.ศ.2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปีพ.ศ.2608

.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานของ UNFCCC ได้จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 : Thailand NDC Roadmap) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2560 มีกรอบดำเนินการระหว่างปีพ.ศ.2564 -พ.ศ.2573

.

โดยหนึ่งในมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทย ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) คือมาตรการทดแทนปูนเม็ด (Clinker Substition) และมอบให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA รับภารกิจขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

.

๐ จุดเริ่มต้นความสำเร็จ

ด้วยความมุ่งมั่นและร่วมมือกันของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของไทยทุกรายได้ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีการวิจัยและพัฒนา พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ทำให้ได้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ที่สามารถใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายมีความพร้อมในการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ จึงเกิดเป็นความสำเร็จในเบื้องต้น

.

จากนั้น การบูรณาการความร่วมมือกับภาคีต่างๆ จากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของ 6 กระทรวง ได้แก่ 1)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2)กระทรวงอุตสาหกรรม 3)กระทรวงมหาดไทย 4)กระทรวงคมนาคม 5)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ6)กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังกันอย่างต่อเนื่อง เกิดการขับเคลื่อนความร่วมมือด้วยการปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้างและกฎระเบียบของหน่วยงาน การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตและการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการสนับสนุนการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก.2594 แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มอก.15 ส่งผลให้เมื่อสิ้นปีพ.ศ.2564 ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยกำหนดไว้ถึง 9 ปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญ

.ต่อจากนั้น จึงเกิดการขยายผลโดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ภาคีดังกล่าวได้ร่วมกันประกาศพันธกิจใหม่ “MISSION 2023” มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 110 ล้านต้น) ภายในปีพ.ศ.2566 และในวันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายพร้อมยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ชนิดเดิมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง และนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเข้าสู่การใช้งานแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั้งหมด จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของxประเทศไทยในการก้าวไปสู่ “Thailand’s New Era of Low Carbon Cement” เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero

.

๐ ขับเคลื่อนผ่าน 3 แผนงาน 7 มาตรการ

การขับเคลื่อนพันธกิจการลดก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดย TCMA เพื่อบรรลุเป้าหมาย ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า มีการดำเนินการผ่าน 3 แผนงาน ได้แก่ หนึ่ง การศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น Limestone Calcine Clay Cement เป็นต้น นอกจากการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก สอง การพัฒนาเหมืองสู่ความยั่งยืน ตั้งแต่การนำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังสิ้นสุดการทำเหมือง ด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำหรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน และปลูกต้นไม้ตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มพื้นที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสาม การส่งเสริมการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การนำ Waste จากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชน มากกว่า 9.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing เป็นต้น รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

.

นอกจากนี้ TCMA มีการจัดทำ “แผนงานมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทย” Thailand Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050 ร่วมกับสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ Global Cement and Concrete Association (GCCA) สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและนำเสนอระหว่างการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยได้รับการตอบรับสนับสนุนอย่างดีจากทุกหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

.

ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA)

“Thailand Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050” เกิดจากการตั้งเป้าหมายและให้คำมั่นร่วมกันระหว่างบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตของประเทศไทย ที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ประเมินว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยลดลงได้ครึ่งหนึ่งภายในปีพ.ศ.2573 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย “Thailand NDC” และเข้าสู่ “Net Zero” ในปีพ.ศ.2593 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลก

.

โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ผ่าน 7 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและก่อสร้าง (Efficiency in design and construction) 2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตคอนกรีต (Efficiency in concrete production) 3. การลดจากการใช้ปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ (Savings in cement and binders) 4. การลดจากกระบวนการผลิตปูนเม็ด (Savings in clinker production) 5.การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์/กักเก็บ (Carbon capture and utilization/storage) 6.การใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation of electricity) และ7.การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยคอนกรีต (CO2 sink recarbonation)

.

TCMA ร่วมกับจังหวัดสระบุรี และ 12 พันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง “บูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี”

และเมื่อเร็วๆ นี้ TCMA ได้ร่วมกับจังหวัดสระบุรี และ 12 พันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง “บูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี” ประกาศความพร้อมในการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกหรือปูนลดโลกร้อนในทุกงานก่อสร้างของจังหวัด เพื่อมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย หลังจากเข้าร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งมีข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และชุมชน เมื่อปลายปี 2565 นำเสนอ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” เพื่อพัฒนาจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้เป็นจังหวัด“ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ”ตามแนวทาง BCG Economy ที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และสนองต่อนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

.

ชนะ กล่าวย้ำว่า “ความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึง หน่วยงานต่างๆ และชุมชน คือปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จที่กล่าวมาทั้งหมด จากก้าวแรกจนถึงวันนี้ และแน่นอนว่า การร่วมแรงร่วมใจกันจะยังคงเป็นพลังผลักดันให้เกิดความสำเร็จในก้าวต่อๆ ไป”

.

ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ตาม “Thailand Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050” ดำเนินมาอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงบทบาทนำในการสนับสนุนประเทศไทยร่วมดำเนินภารกิจสำคัญของโลก

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000035525