ความอ่อนเยาว์หรือแก่ชราของเซลล์และอวัยวะมนุษย์นั้น วัดกันด้วย “อายุชีวภาพ” (biological age) ซึ่งอาจจะแตกต่างจากอายุจริงที่นับตามปีเกิด (chronological age) เป็นอย่างมาก

.

ผู้ที่ร่างกายประสบกับภาวะเครียดเช่นขาดสารอาหาร ล้มป่วย เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ติดเชื้อ หรือคลอดบุตร จะมีเครื่องหมายบ่งชี้ทางชีวภาพบางประการปรากฏขึ้นในระดับเซลล์ เช่นที่เทโลเมียร์ (telomere) หรือส่วนปลายของโครโมโซม ซึ่งบ่งบอกว่าอายุชีวภาพของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น หรือเรียกได้ว่าแก่ชราลงกว่าอายุจริงตามปีเกิดนั่นเอง

.

ล่าสุดทีมนักชีววิทยาระดับโมเลกุลจากนานาชาติ นำโดยคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ค้นพบว่าการแก่ตัวลงตามอายุชีวภาพนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยร่างกายของคนเราสามารถย้อนวัยให้อายุชีวภาพกลับไปใกล้เคียงกับอายุจริงตามปีเกิดได้เอง เมื่อภาวะเครียดที่ก่อให้เกิดความชราระดับเซลล์ผ่านพ้นไปแล้ว

.

รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism ระบุว่า แม้ในอดีตนักวิทยาศาสตร์จะทราบอยู่บ้างว่าปัจจัยจากกระบวนการนอกเหนือพันธุกรรม (epigenetics) หรือตัวควบคุมการแสดงออกของยีนที่ไม่ใช่ดีเอ็นเอ สามารถกำหนดอายุชีวภาพของคนเราให้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยได้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่า ความชราระดับเซลล์ที่เกิดจากอายุชีวภาพเพิ่มพูนขึ้น สามารถปรับลดลงจนไปสู่ความอ่อนเยาว์ได้เองตามธรรมชาติ

.

มีการเปรียบเทียบนาฬิกาชีวภาพหลายตัวในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยกระบวนการนอกเหนือพันธุกรรม เพื่อดูว่านาฬิกาชีวภาพเหล่านี้ตอบสนองอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงจากภาวะเครียด ซึ่งผลปรากฏว่าความแก่ชราของอายุชีวภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

.

ทีมผู้วิจัยบอกว่า “เมื่อภาวะเครียดบรรเทาเบาบางลงหรือผ่านพ้นไป มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า อายุชีวภาพที่ปรากฏในระดับเซลล์ลดลง จนถอยหลังไปสู่ความเยาว์วัยเท่ากับอายุจริงตามปีเกิดได้ทั้งหมดหรือบางส่วน”

.

กรณีหนึ่งที่ผู้วิจัยทำการศึกษาคือกลุ่มผู้ป่วยวัยชราที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งพวกเขาพบว่าสารเคมีที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอายุชีวภาพของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังการผ่าตัด กลับลดลงมาสู่ระดับเดิมก่อนการผ่าตัดได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ผลการศึกษานี้ยังสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนูทดลอง ซึ่งรับการผ่าตัดเชื่อมอวัยวะติดกันและแยกออกจากกันในเวลาต่อมา

.

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบถึงรายละเอียดเบื้องหลังกลไกการย้อนวัยอายุชีวภาพตามธรรมชาตินี้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไปว่า การย้อนวัยดังกล่าวมีความยั่งยืนถาวรแค่ไหนและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคนเราหรือไม่ และที่สำคัญคือมนุษย์จะสามารถเลียนแบบรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการย้อนวัยอายุชีวภาพ เพื่อยืดอายุขัยของตนเองได้หรือไม่ในอนาคต

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cn0xjjvw8p0o