นำร่องบินสำรวจป่าไทย 13 ล้านไร่ โดย ทีม สจล. ร่วมกับกระทรวงทรัพยากร ฯ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรม ‘อีวีทัล (eVTOL)’ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ลูกผสมโดรนกับเครื่องบินที่สามารถบินขึ้นลงแนวดิ่งได้ ใช้พลังงานไฟฟ้าราคาถูกแค่หลักพันต่อวัน
.อีวีทัล สร้างขึ้นมาด้วยกัน 3 ขนาด (ขนาด 2.2, 2.5 และ 3.3 เมตร ) เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อุบัติภัยไฟป่า-น้ำท่วม และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย เฟสที่ 1 บินนำร่องสำรวจทำแผนที่ทรัพยากรป่าไม้ของไทยให้อัพเดท 11 อุทยานแห่งชาติ 13 ล้านไร่ เผยสมรรถนะสูง บินได้นาน 3 ชม. น้ำหนักเบาและเงียบ ค่าใช้จ่ายต่อวันถูกหลักพัน เมื่อเทียบกับใช้เฮลิคอปเตอร์หลักแสน
.
สจล.เผยแผนงานเฟสที่ 2 เตรียมสำรวจชายฝั่งทะเลไทย และเฟสที่ 3 โครงการรักษาความปลอดภัยในเมือง
.
ข้อดี ประหยัดพลังงาน น้ำหนักเบา แข็งแรง บินเงียบได้นาน 3 ชม. มีค่าใช้จ่ายบินเพียงหลักพัน
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า ปัญหาป่าไม้และอุบัติภัยสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น พื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ พบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 ถึงปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 138.6 ล้านไร่ เหลือเพียง 102.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.54 ของพื้นที่ประเทศไทย การใช้อากาศยานเพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ยังมีข้อจำกัด การใช้เฮลิคอปเตอร์ติดตามและเฝ้าระวังหลักนั้นไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ และส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งนับแสนบาท
.
ดังนั้น วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ริเริ่ม “โครงการและศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้ในการผลิตข้อมูลและจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้เป็นปัจจุบัน” โดยทีมวิจัย สจล.พัฒนานวัตกรรม‘อีวีทัล’ (eVTOL) หรือ Electric Vertical Takeoff and Landing ประกอบด้วย นาวาตรี ธีระพงษ์ สนธยามาลย์, นายณัฐ พลสาย, นาวาอากาศตรี ปรัชญา เรียนพืช, พันจ่าอากาศเอก ภูริวัฒน์ ศรีทอง, นายสิทธนนท์ สุขสำราญ และนายจิรายุส จันทะวงค์ ทั้งนี้โดยได้รับทุนวิจัยจาก กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
.
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอากาศยานไร้คนขับในรูปแบบขึ้นลงทางดิ่ง (Vertical Takeoff and Landing: VTOL) สำหรับการลาดตระเวนและการสำรวจจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ
2. เพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง สำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลข้อมูลสถานการณ์อุบัติภัย ในรูปแบบ Real Time บน Web Map Service และ Mobile Application
และ 3. เพื่อจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและการบินลาดตระเวนทางอากาศในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและน้ำป่าไหลหลาก
.
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี เผยโฉมนวัตกรรมใหม่ อีวีทัล...ลูกผสมโดรนกับเครื่องบิน
ด้าน ผศ.ดร. เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จุดเด่นของ ‘อีวีทัล (eVTOL)’ เมดอินไทยแลนด์นี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ ลูกผสมระหว่างโดรน กับเครื่องบิน ขึ้นลงแนวดิ่ง ไม่ต้องใช้รันเวย์ มีสมรรถนะสูง น้ำหนักเบา ประหยัดพลังงาน บินได้นาน 3 ชม. โดย 1 ชม.สามารถบินครอบคลุมพื้นที่ 10 ล้านไร่ เสียงเงียบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความแข็งแรง ปลอดภัย กล้องมีความละเอียดสูงสามารถซูมเห็นทะเบียนรถ มากกว่า Google หลายเท่าตัว ‘อีวีทัล (eVTOL)’ ยังใช้สำรวจ-ป้องกันอุบัติภัยได้ เช่น การบินทำแผนที่ความลาดเอียงของพื้นที่ (Contour) ทำให้สามารถวิเคราะห์ทิศทางน้ำไหลหลาก เพื่อเตรียมการและป้องกันชุมชน หรือพื้นที่เกษตรได้ล่วงหน้า หากเจอจุดควันไฟ สามารถส่ง อีวีทัล ขึ้นบินไปดูว่าเกิดจากอะไรและหาพิกัดได้ หรือกรณีคนหลงในป่า สามารถใช้กล้องบน อีวีทัล ตรวจจับคลื่นความร้อนได้
.
นวัตกรรมนี้มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการนำเข้าประมาณ 20 - 30% ในระยะยาวการบำรุงรักษาจะถูกกว่า 50% โดยในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพียง 8,500 บาท ต่อวัน ต่อเจ้าหน้าที่ 4 คน เท่านั้น ซึ่งหากใช้เฮลิคอปเตอร์จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายนับแสนบาท
.
ทีม สจล. วิจัยพัฒนา‘อีวีทัล (eVTOL)’ ใช้ระยะเวลา 6 เดือน ในรูปแบบ Integration and Customization จำนวน 3 ขนาด รวม 14 ลำ เพื่อการใช้งานภารกิจนำร่องการบินลาดตระเวนทางอากาศและการทำภาพถ่ายทางอากาศทรัพยากรป่าไม้ของไทย ดังนี้
.
• อากาศยานไร้คนขับ ขนาดเล็ก ความยาวปีก 2.2 เมตร ลำตัวเครื่อง 1,200 มิลลิเมตร วัสดุ โฟม EPO, ฟิล์มอลูมิเนียม-พลาสติก, พีวีซี ระยะเวลาการบินสูงสุด 95 นาที (แบตเตอรี่ 1 ก้อน รุ่น 6S 25000 mAh High Voltage Lipo Battery, ไม่มีเพย์โหลด) 70 นาที (ถ้ามีกล้องถ่ายรูป) แรงดันไฟฟ้าที่ใช้ 24 โวลท์ ติดตั้งกล้องถ่ายภาพทางอากาศ แบบหลายช่วงคลื่น นำไปใช้ถ่ายภาพในพื้นที่เป้าหมาย
.
• อากาศยานไร้คนขับ ขนาดกลาง ความยาวปีก 2.5 เมตร ขนาด 1260 x 440 x 460 มิลลิเมตร ลำตัวเครื่อง 1,440 มิลลิเมตร น้ำหนัก 12 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่) ใช้วัสดุเคฟลาร์ (Kevlar) และวัสดุเชิงประกอบความหนาแน่นสูง เพดานการบินสูงสุด 3,000 เมตร ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่ที่ใช้ หกเซลล์ (6S) 12500 มิลลิแอมป์ ลิเธียมไอออน แบตเตอรี่ 3 ก้อน และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 5000 มิลลิแอมป์ จำนวน 2 ก้อน โดยติดตั้งกล้องถ่ายภาพทางอากาศ และนำไปใช้ในพื้นที่เป้าหมาย
.
• อากาศยานไร้คนขับ ขนาดใหญ่ ความยาวปีก 3.3 เมตร ขนาด 1260 x 440 x 460 มิลลิเมตร ลำตัวเครื่อง 1,750 มิลลิเมตร น้ำหนัก 20 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่) ใช้วัสดุเคฟลาร์ (Kevlar) เพดานการบินสูงสุด 3,000 เมตร ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่ที่ใช้ ฟ็อกซ์เท็ค หกเซลล์ (Foxtech 6S) 8,000 มิลลิแอมป์ Lipo แบตเตอรี่ 2 ก้อน (สำหรับการขึ้นลงแนวดิ่ง) และ Lipo แบตเตอรี่ 16,000 มิลลิแอมป์ จำนวน 4 ก้อน (สำหรับอากาศยานปีกนิ่ง) โดยติดตั้งกล้อง และใช้ในงานลาดตระเวนพื้นที่เป้าหมาย
.
ทีม สจล.ติดตามรายงานทางจอขณะบิน และสั่งการได้หากเจออุปสรรค
วิธีการบิน โดยทีม อีวีทัล สจล.
พวกเขามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระดับประเทศ เริ่มจากการหาจุดที่มีสัญญานดีเพื่อตั้งเสาสัญญาน และกำหนดจุดขึ้น-ลง ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบ คำนวณพื้นที่ วางแผนเส้นทางการบินที่เหมาะสมกับภารกิจ โหลดคำสั่งลงอีวีทัล จากนั้นจึงใช้ Auto Pilot ปล่อยอากาศยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในแนวดิ่งแล้วบินในแนวราบไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ทีมภาคพื้นดินจะตรวจสอบการบินและข้อมูลทางจอแสดงผล หากเจออุปสรรค เช่น บินผ่านพื้นที่อับสัญญาน หรือเจอเมฆฝน ก็สามารถสั่งการแก้ปัญหา เช่น บินเลี่ยงอุปสรรค หลบฝน หรือบินกลับได้
.
ในโครงการฯ นี้ ได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ทางการ ให้เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ประชาชน และเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้ผ่านโปรแกรม Web Browser และ Mobile Web Browser ได้โดยตรง ในชื่อโดเมน https://data.warroomuav.com และยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันในชื่อ War Room UAV ที่เข้าถึงได้ผ่าน Mobile Application ในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
.
ผลการทดสอบ ‘อีวีทัล (eVTOL)’
อากาศยานไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการบินในบริเวณที่ราบ หรือเทือกเขาสูง โดยให้ข้อมูลภาพถ่ายที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปวิเคราะห์และจัดทำเป็นฐานข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ และในอากาศยานไร้คนขับขนาดใหญ่ สามารถถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้อย่าง Real-Time ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งยังให้ข้อมูลภาพที่แสดงแผนที่ความร้อน เช่น ไฟป่า ได้อีกด้วย สร้างสถิติครั้งแรกในประเทศไทยทั้งในด้านจำนวนพื้นที่และชั่วโมงบิน โดยทำการบินลาดตระเวนทางอากาศ 10 ล้านไร่ สำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ 3 ล้านไร่ ชั่วโมงบินโดยเฉลี่ยของการบินจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและการบินลาดตระเวน 100 ชั่วโมงบิน และจำนวนพื้นที่บิน 11 อุทยานแห่งชาติฯ
.
ประโยชน์ของนวัตกรรม ‘อีวีทัล (eVTOL)’ ส่งผลดีต่อการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับฝีมือคนไทย ที่เทียบเท่าระดับโลก เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ eVTOL เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอากาศยานหลัก (เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานปีกตรึง) ให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบิน ตรวจ ลาดตระเวนได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยที่ความเสี่ยงและต้นทุนลดลง อัพเดทแผนที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจุบัน ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านทรัพยากรป่าไม้ให้รองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอากาศยาน ทั้งสามารถพัฒนาในด้าน Remote Sensing ในอนาคต
.
นอกจากนี้ยังนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกมาก เช่น ประเมินแปลงเกษตร หรือแปลงปลูกป่ากับปริมาณกักเก็บคาร์บอน ประเมินและจำแนกพืชพันธุ์ในพื้นที่ การวิเคราะห์อุบัติภัย เช่น สถานการณ์ไฟป่า ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากแผนการพัฒนาในอนาคต
.
ตอนนี้ สจล.มีแผนงานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศไทย ในเฟสที่ 2 ซึ่งจะนำฝูงอากาศยาน อีวีทัล (eVTOL) ออกบินสำรวจชายฝั่งทะเลไทย โดยร่วมกับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อถ่ายภาพและทำแผนที่ชายฝั่งให้เป็นปัจจุบัน พัฒนาฐานข้อมูลชายฝั่งของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ปัญหาการกัดเซาะและความเปลี่ยนแปลง
.
ต่อจากนั้นในอนาคตเฟสที่ 3 อีวีทัล (eVTOL) ยังมุ่งสร้างประโยชน์ความปลอดภัยในพื้นที่เมือง โดย สจล.มีการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานตำรวจในแนวทางโครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยเพื่อประชาชน โดยใช้เทคโนโลยี อีวีทัล (eVTOL) บินลาดตระเวนสังเกตุการณ์ และบริหารจัดการในเมืองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติภัยในอนาคต
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000048659