ทุกวันนี้โรคนอนไม่หลับ (insomnia) กำลังแพร่ขยายไปสู่คนในสังคมยุคใหม่เป็นวงกว้างมากขึ้น โดยประมาณการว่ามีประชากรโลกอย่างน้อย 10% - 30% และอย่างมาก 50% - 60% ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจเนื่องจากโรคนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้ารวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดติดตามมาในระยะยาวด้วย

.

ล่าสุดมีผลการศึกษาทางจิตวิทยาออกมาชี้ว่า พฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับมีอาการรุนแรงหนักขึ้น โดยจะยิ่งตาค้างไม่ยอมง่วงมากกว่าเดิม หากคนผู้นั้นมีนิสัยวิตกกังวลจนชอบเหลียวมองไปดูนาฬิกาบ่อย ๆ ขณะกำลังพยายามข่มตานอนหลับ

.

ดร. สเปนเซอร์ ดอว์สัน นักจิตวิทยาคลินิกผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินเดียนาของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร “คู่มือการดูแลขั้นพื้นฐานสำหรับโรคของระบบประสาทส่วนกลาง” (Primary Care Companion for CNS Disorders) ระบุว่า

.

“พฤติกรรมเฝ้าดูเวลา (Time - Monitoring Behavior – TMB) นำมาซึ่งวงจรอุบาทว์ที่ทำให้อาการนอนไม่หลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งนอนไม่หลับนานขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเหลือบดูนาฬิกาบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนว้าวุ่นใจและมีการใช้ยานอนหลับเพิ่มมากขึ้นทุกที”

.

“เรื่องนี้เป็นเพราะผู้ป่วยมีความวิตกกังวลว่าจะนอนหลับได้นานไม่เพียงพอ จึงเริ่มคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานา เช่นคำนวณว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ถึงจะหลับได้ แถมตั้งเป้าหมายอีกว่าจะต้องตื่นขึ้นเวลาไหน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มความเครียดและไม่ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นเลย” ดร. ดอว์สันกล่าว

.

ทีมผู้วิจัยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนของผู้ป่วย 4,886 คน ซึ่งเข้ารับการรักษาที่คลินิกเฉพาะทางด้านการนอนหลับที่รัฐแอริโซนา โดยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 3 ประการ ซึ่งได้แก่ระดับความรุนแรงของโรคนอนไม่หลับ, จำนวนครั้งที่ใช้ดูนาฬิกาขณะพยายามข่มตานอนในเวลากลางคืน, และพฤติกรรมการใช้ยานอนหลับของผู้ป่วย

.

ผลปรากฏว่าพบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องทางสถิติที่มีนัยสำคัญระดับสูง ระหว่างระดับความรุนแรงของโรคนอนไม่หลับที่เป็นสาเหตุ กับพฤติกรรมการใช้ยานอนหลับซึ่งเป็นผลที่เกิดติดตามมา โดยมีปัจจัยเรื่องจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยดูนาฬิกาขณะพยายามนอนหลับเป็น “สื่อกลาง” (mediator) ที่ทำให้ตัวแปรทั้งสองประการข้างต้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

.

นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่นซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ หรือมีอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) จะมีพฤติกรรมชอบดูนาฬิกาขณะพยายามข่มตานอนบ่อยกว่าผู้อื่น และมีการใช้ยานอนหลับในปริมาณที่สูงกว่าผู้อื่นอย่างมากไปด้วย ซึ่งผลการสัมภาษณ์ผู้ป่วยถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ขณะต้องถ่างตาเฝ้าดูนาฬิกาในเวลาที่ควรจะหลับได้แล้วนั้น พบว่าผู้ป่วยมีความเครียดและรู้สึกสับสนว้าวุ่นใจเพิ่มขึ้นจริง

.

ดร. ดอว์สัน อธิบายเพิ่มเติมว่า “ปัญหาการใช้ยานอนหลับในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาจากพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้อาการของโรคนอนไม่หลับรุนแรงขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้แก่การชอบดูนาฬิกาบ่อยครั้งในเวลานอน รวมถึงการมีอารมณ์เครียดและรู้สึกกดดันเพราะนอนไม่หลับเสียที”

.

ทีมผู้วิจัยแนะนำให้ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับเข้ารับการบำบัดจิตแบบปรับเปลี่ยนความคิด (cognitive restructuring) เพื่อจัดการกับอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นขณะนอนไม่หลับได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดการใช้ยานอนหลับที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ในระยะยาว

.

“อีกสิ่งหนึ่งที่คนนอนไม่หลับสามารถทำได้ง่าย ๆ นั่นก็คือการหันหน้าปัดนาฬิกาไปทางอื่น หาสิ่งของมาบังหรือใช้ผ้าคลุมปิดเอาไว้ เพื่อไม่ให้เผลอเหลือบดูในตอนที่พยายามจะนอนหลับ นอกจากนี้ การนำโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่บอกเวลาได้อื่น ๆ ออกไปให้ห่างจากตัว ก็จะช่วยลดพฤติกรรมเฝ้าดูเวลาได้” ดร. ดอว์สันกล่าวสรุป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cz4nqegypy3o