ครั้งแรก! ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดการแสดงละครทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ โดยความร่วมมือของ NSM -ThaiBev-C asean มี 11 ทีมจาก 5 ประเภทอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทย เข้ารอบชิง

.

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และนางต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ C asean ร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบรางวัลให้กับทีมผู้ชนะการประกวด “การแสดงละครทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ 2023” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “Producing Green Consuming Clean” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยและทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10 อาคาร CW Tower กรุงเทพฯ

.

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “การประกวดการแสดงละครทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติประจำปี 2566 (International Science Drama Competition 2023) เป็นกิจกรรมประจำปีที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความรู้และความรักหลงใหลในวิทยาศาสตร์ผ่านการแสดง การแข่งขันนี้จัดโดยเครือข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชียแปซิฟิก (ASPAC) โดยในปีนี้ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก โดย NSM ได้ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ C asean ในการจัดงาน ซึ่งปีนี้มีเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 11 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จำนวนกว่า 129 คน มาร่วมการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “Producing Green Consuming Clean” ซึ่งหลายประเทศก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนและความสามารถในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และจินตนาการมาบูรณาการร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

.

นางต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ C asean กล่าวว่า “C asean เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงคนในอาเซียนเข้าด้วยกัน ทั้งในด้านธุรกิจ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนนวัตกรรม และการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างสังคมที่เข้มแข็งเพื่อความเชื่อมโยงและการพัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียนและนานาชาติ สำหรับเวทีการประกวดฯ ครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายระหว่างสมาคมอาเซียน ต้องขอขอบคุณที่ NSM เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนช่วยผลักดันสังคมอาเซียนให้มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ในอาเซียนต่อไป”

.

ผลการแข่งขันปรากฏว่า ละครวิทยาศาสตร์รูปแบบละครเวที ในประเภท Junior Category (ประถมศึกษา) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย จากทีม SK Setiawangsa เรื่อง Aviation Revolution: A Journey to Sustainability รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ จากทีม Kuo Chuan Presbyterian Primary School เรื่อง The Way of the Future รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ประเทศไทย จากทีมโรงเรียนดาราวิทยาลัย เรื่อง The Beginning และรางวัล Outstanding Performer ได้แก่ Hassan Ali Rayyan Bin Hirman Falani จากประเทศมาเลเซีย และClara Lim จากประเทศไทย

.

ประเภท Open Category (บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดอายุ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ จากทีมSenator Renato “Companero Cayetano Memorial Science and Technology High School and The Mind Museum เรื่อง The Big Bang รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ จากทีมThe Feud of the Farms เรื่อง Methodist Girls’ School (Secondary) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ประเทศไทย จากทีมโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เรื่อง The Redemption of Mother Earth รางวัลชมเชย ได้แก่ ประเทศบรูไน จากทีม Seria Energy Lab เรื่อง Alistair in Wonderville และรางวัล Outstanding Performer ได้แก่ Arden Lee จากประเทศบรูไน และKeren Mae Rivera จากประเทศฟิลิปปินส์

.

ละครวิทยาศาสตร์ในรูปแบบภาพยนตร์สั้น ประเภท Short Films Category (ภาพยนตร์สั้น) ไม่จำกัดอายุ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง UNSEEN ของประเทศฟิลิปปินส์ จากทีมSenator Renato “Companero Cayetano Memorial Science and Technology High School and The Mind Museum รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง The Ghost Clean ของประเทศไทย จากทีมโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง Explore Green in Beijing ของสาธารณรัฐประชาชนจีน จากทีม The Primary School Affiliated to Communication University of China และรางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง Eli and Multiverse of Clean Energy ของประเทศสิงคโปร์ จาก Nanyang Girls’ High School

.

“ขอแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ได้รับรางวัล หวังว่าเยาวชนอาเซียนทุกคนในเวทีนี้จะได้รับประสบการณ์ที่ดี และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันสังคม และขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้สังคมอาเซียนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศของตัวเองต่อไปในอนาคต” ดร.กรรณิการ์ กล่าว 

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000082162