ความก้าวหน้าเกี่ยวข้องกับการเกษตรคาร์บอนต่ำที่เกิดขึ้นในบราซิล น่าสนใจตรงที่ความพยายามใช้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อปรับเปลี่ยนสู่ภาคการเกษตรคาร์บอนต่ำ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยกลุ่มบริษัทเนสท์เล่ผู้นำในด้านการแปรรูปการผลิตสินค้าเกษตร ผ่านรูปแบบของเกษตรตามสัญญา
.
การปฏิรูปภาคการเกษตรสู่คาร์บอนต่ำผ่านการสนับสนุนทางการเงินโดย The Global Innovation Lab for Climate Finance สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจวิจัยนี้ แสดงให้เห็นกลไกเชิงนวัตกรรมที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในระยะยาวอย่างยั่งยืน
.
นั่นคือกลไกปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรสู่คาร์บอนต่ำ The Low-Carbon Agriculture Transition Mechanism (LATM) ซึ่งได้มีการจัดตั้งเงินทุนระยะยาวเพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรขนาดกลางและขนาดย่อมในบราซิล ควบคู่กับการรับประกันรายได้ขั้นต่ำ และความช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในส่วนของภาคการเกษตรได้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
.
เหตุผลที่เลือกบราซิล เพราะตามข้อมูลพบว่า บราซิลเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 12.2% ในปี 2021 โดย 49% มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และอีก 25% มาจากภาคการเกษตร ทำให้การเกษตรคาร์บอนต่ำเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะนำไปสู่ผลกระทบในทางบวกที่ดีขึ้นต่อภาวะการเกิดก๊าซเรือนกระจก
.
นอกจากงานวิจัยที่ชี้ว่าได้ผลดีในบราซิลแล้ว การนำนโยบายเกี่ยวกับการเกษตรคาร์บอนต่ำยังเกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการเจรจาหารือร่วมกัน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีภาคการเกษตรในพื้นที่กว้างขวาง และถือเป็นภูมิภาคที่ป้อนแหล่งอาหารให้แก่ทั่วโลก จึงเป็นความท้าทายที่จะนำเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยใช้ช่องว่างทางเทคโนโลยีและกำลังการผลิตมาใช้ในภาคการเกษตรที่มีคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้เชื่อว่าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว
.
ในส่วนของการเกษตรแบบสัญญา หรือ Contract Farming กิจการที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ได้แก่ เนสท์เล่ จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับ Cargill ในการเปลี่ยนเปลือกโกโก้ให้เป็นปุ๋ยคาร์บอนต่ำ ด้วยการที่บริษัท Cargill ทำหน้าที่ในการจัดหาเปลือกโกโก้ให้กับ CCM Technologies ซึ่งจะทำการผลิตปุ๋ยให้กับฟาร์มสองแห่ง ซึ่งเป็นฟาร์มแบบสัญญาของบริษัทเนสท์เล่ ที่สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์
.
เนื่องจากเกิดความตระหนักว่า การผลิตปุ๋ยที่ผ่านมามีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 5% ของการปล่อยก๊าซเรียนกระจกทั่วโลก ทำให้เกิดความพยายามในการจัดหานวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตปุ๋ยแบบเดิม ซึ่งสิ่งที่สามารถดำเนินการอย่างได้ผลคือเปลือกโกโก้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้หลักของการผลิตโกโก้อยู่แล้ว
.
ที่ผ่านมา ภาคการเกษตรเห็นว่าเปลือกโกโก้เป็นของเสีย และทิ้งไว้ในสวนโกโก้ หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ แต่ผลการวิจัยเชิงนวัตกรรมได้ชี้ให้เห็นว่า เปลือกโกโก้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นวัตถุเจือปนอาหาร หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือแม้แต่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเช่นปุ๋ยคาร์บอนต่ำ
.
หลักการในการใช้นวัตกรรมผ่านโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟูล่าสุดของเนสท์เล่และ Cargill พบว่า ไนโตรเจนในปุ๋ยทั่วไปสามารถถูกแทนที่ด้วยระดับไนโตรเจนอินทรีย์ตามธรรมชาติจากเปลือกโกโก้ได้ จึงเริ่มมีการจัดหาเปลือกโกโก้ที่เป็นขยะจากภาคการเกษตรทั่วไปและนำส่งให้แก่บริษัท CCM Technologies ในสวีเดนนำไปทำการแปรรูปและอัดก้อนเปลือกโกโก้ลงในปุ๋ย
.
ผลการทดสอบในรอบสองปีที่ผ่านมาพบว่า ผลกระทบของปุ๋ยคาร์บอนต่ำชนิดใหม่ที่มีต่อการผลิตพืช สุขภาพของดินดีขึ้น รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ความสำเร็จที่ได้จากโครงการทดสอบดังกล่าว คาดว่าจะนำไปสู่การขยายกำลังการผลิตปุ๋ยคาร์บอนต่ำได้มากถึง 7,000 ตัน และนำไปเสนอขายให้กับเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทานข้าวสาลีของบริษัทเนสท์เล่ในสหราชอาณาจักรได้ไม่น้อยกว่า 25% ของการใช้ปุ๋ยข้าวสาลีทั้งหมดที่บริษัทเนสท์เล่ใช้อยู่
.
เนสท์เล่จึงเป็นตัวอย่างของบริษัทหนึ่งที่พัฒนาเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของการลดปริมาณคาร์บอน จนเข้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2030 ผ่านกลไกของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเป็นอันดับแรกและคาดว่าจะนำผลผลิตที่ได้จากการพัฒนาปุ๋ยคาร์บอนต่ำ เพื่อต่อยอดและขยายผลออกไปยังแหล่งขยะอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อนำเทคโนโลยีที่คิดได้ นำไปขยายกำลังการผลิต เพื่อให้เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าถึงปุ๋ยคาร์บอนต่ำได้ ซึ่งอาจจะรวมถึงเกษตรกรนอกห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเนสท์เล่ ภายในสหราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคตต่อไป
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000093404