เครื่องดื่มหวานยอดฮิตจำพวกชานม ไม่ว่าจะหวานมากหวานน้อย จะใส่ไข่มุกหรือใส่ท็อปปิ้งอื่น ๆ ล้วนได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนหนุ่มสาวชาวเอเชียหลายประเทศ ตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

.

แต่ล่าสุดมีนักโภชนาการออกมาเตือนว่า นอกจากคนที่ดื่มชานมเป็นประจำจะเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ (NCDs) แล้ว ยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นอายุน้อย

.

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงฮวา ร่วมกับมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลางของจีน ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Journal of Affective Disorders หลังทำการสำรวจข้อมูลสุขภาพของนักศึกษา 5,281 คน ในกรุงปักกิ่ง

.

ผลวิจัยพบว่าอาการ “เสพติดชานม” นั้นมีอยู่จริง ทั้งยังมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต โดยนำไปสู่การเกิดภาวะวิตกกังวลเกินเหตุ, โรคซึมเศร้า, และความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้

.

เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ดื่มชานมเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละแก้ว แต่ส่วนใหญ่กลับมีพฤติกรรมการดื่มชานมที่แสดงถึงการเสพติด เช่นดื่มปริมาณมากหลายแก้วในคราวเดียว หรือรู้สึกกระหายอยากดื่มชานมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากชานมนั้นมีน้ำตาลในปริมาณสูง รวมทั้งมีสารคาเฟอีนที่ทำให้เสพติดได้

.

ทีมผู้วิจัยพบว่าคนที่เสพติดชานมมักมีอารมณ์ขุ่นมัว รู้สึกเหงาอ้างว้างและเศร้าสร้อยได้ง่าย ทั้งยังมีพฤติกรรมแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนจีน

.

“มีแนวโน้มว่า คนหนุ่มสาวมักใช้การดื่มชานมเป็นเครื่องมือจัดการกับอารมณ์ที่ปั่นป่วนของตนเอง หรือใช้เป็นกลไกรับมือทางจิตวิทยาชนิดหนึ่ง ทำให้เสพติดชานมได้เหมือนกับการใช้สื่อโซเชียลหรือสารเสพติดทั่วไป” ทีมผู้วิจัยกล่าว

.

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดถึงกลไกทางกายภาพและจิตวิทยาที่เป็นสาเหตุเบื้องหลังของเรื่องนี้ได้ แต่ยืนยันว่าความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างการเสพติดชานมกับปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีอยู่จริง และเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง ซึ่งควรจะมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในเชิงลึกต่อไป

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c3g33g0jv62o