ในภาวะที่มีคลื่นความร้อน หนอนผีเสื้อสามารถติดค้างอยู่บนต้นไม้ที่เป็นอาหารของพวกมันได้
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่าผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีผลต่อความอยู่รอดของหนอนผีเสื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงระบบนิเวศน์ ไม่ว่าจะเป็นการผสมเกสรดอกไม้ รวมทั้งบรรดาสัตว์ที่กินพวกมันเป็นอาหาร
.
ดร.เอสเม แอช-เจปสัน ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้บอกว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หนอนผีเสื้อเหล่านี้อยู่ยากมากขึ้น และมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง
.
"เราพบว่า หนอนผีเสื้อมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิได้ค่อนข้างแย่ เช่น เมื่ออยู่ในที่อุณหภูมิเย็น มันไม่สามารถทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น หรือ ทำให้ร่างกายเย็นลงเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นได้" ดร.แอช-เจปสัน จากคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาเคมบริดจ์ กล่าว
.
"นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดคลื่นความร้อนขึ้น พวกมันจะต้องติดแหง็กบนต้นพืชที่พวกมันใช้กินเป็นอาหารแล้วก็เกาะกันเป็นก้อน ก่อนที่พวกมันจะถูกแดดเผาจนสุก"
.
ผู้วิจัยทำการศึกษาหนอนผีเสื้อทั้งหมด 12 ชนิด รวมทั้งผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา
ดร. แอช-เจปสัน เริ่มการวิจัยเรื่องนี้ เพราะเธอเองตระหนักว่า ปัจจุบัน ยังมีช่องว่างในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของอากาศร้อนแบบสุดขั้วและอากาศเย็นต่อการมีชีวิตอยู่ของตัวหนอนผีเสื้อ ซึ่งเป็นผลพวงของสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
.
งานวิจัยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในหัวข้อ "นิเวศวิทยาและวิวัฒนาการ (Ecology and Evolution)" ได้เสนอแนะหนทางในการป้องกันหนอนผีเสื้อเหล่านี้จากสภาพอากาศอันโหดร้ายว่า จะต้องสร้างสภาพภูมิอากาศขนาดย่อม (microclimates) และโครงสร้างบนพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นพื้นที่ร่มเงาให้พวกมันหลบแดดได้
.
"ไม่จำเป็นต้องมีต้นไม้ขนาดใหญ่ มีเพียงพื้นที่แถบยาวมีต้นหญ้าสูงเป็นพิเศษก็พอ" เธออธิบาย
.
นักวิจัยศึกษาเรื่องนี้อย่างไร
การวิจัยชิ้นนี้ รวบรวมข้อมูลที่สังเกตการณ์จากพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติไวลด์ไลฟ์ ทรัสต์ (Wildlife Trust) ที่เพกส์ดอน ฮิลล์ส ในเมืองเฮิร์ทฟอร์ดเชอร์ และพื้นที่ในเมืองเคมบริดจ์เชอร์ ในสหราชอาณาจักร โดยเน้นการศึกษาหนอนผีเสื้อ 12 ชนิด ที่ผู้คนคุ้นเคยกันดี เช่น หนอนกะหล่ำ, หนอนผีเสื้อแดงอินเดีย และหนอนผีเสื้อกระดองเต่า เป็นต้น
.
นอกจากนี้แล้ว นักวิจัยยังเก็บข้อมูลจากผีเสื้อขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกเพาะเลี้ยงในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย โดยเก็บข้อมูลจากพื้นที่เพาะปลูกแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองเคมบริดจ์
.
ดร.แอช-เจปสัน ระบุว่า "ผีเสื้อไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม มีความสวยงามและเสน่ห์ในตัวเอง แต่พวกมันยังเป็นส่วนหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพด้วย"
.
"พวกมันยังช่วยในการผสมเกษรดอกไม้รวมทั้งเป็นอาหารให้กับบรรดานกชนิดต่าง ๆ อย่างนกติ๊ดสีน้ำเงินที่พวกมันต้องกินหนอนผีเสื้อเป็นอาหารในช่วงที่เป็นลูกนก"
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c2827l3zm49o