สิ่งที่อยู่เป็นคู่อย่างเช่นอวัยวะหลายส่วนของคนเรา หลายคนคาดว่ามันควรจะต้องมีหน้าที่และลักษณะการทำงานที่เหมือน ๆ กันทั้งสองข้าง แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่า ความจริงแล้วมันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อย่างน้อยก็กับรูจมูกที่เราใช้หายใจและดมกลิ่นอยู่ทุกวัน
.
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ระบุว่ารูจมูก (nostrils) ทั้งข้างซ้ายและข้างขวาของคนเรา มีการทำงานที่แยกกันเป็นอิสระ โดยสามารถจะรับรู้กลิ่นที่แตกต่างกันไป แม้เราจะกำลังดมวัตถุสิ่งเดียวกันอยู่ก็ตาม ซึ่งความประหลาดนี้เป็นผลมาจากการทำงานของระบบประสาทและสมอง
.
แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยบางชิ้น ที่ศึกษาการแยกประสาทรับกลิ่นระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างในคนและสัตว์มาแล้ว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, มหาวิทยาลัยโอไฮโอ, และสถาบันประสาทวิทยาบาร์โรว์ของสหรัฐฯ ยังคงต้องการจะศึกษาเพิ่มเติมว่า สมองจัดการกับข้อมูลจากประสาทรับกลิ่น ที่ส่งเข้ามาแตกต่างกันจากรูจมูกทั้งสองข้างอย่างไร รวมทั้งมีการประมวลสังเคราะห์กลิ่นที่หลากหลาย ให้กลายเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ของวัตถุสิ่งเดียวได้อย่างไร
.
ทีมผู้วิจัยจึงทำการทดลอง โดยขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคลมชัก (epilepsy) 10 คน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีขั้วไฟฟ้าฝังในสมองอยู่แล้ว เพื่อใช้รักษาอาการชักเกร็งเป็นครั้งคราว
.
มีการทดสอบให้อาสาสมัครดมกลิ่นที่แตกต่างกัน 3 กลิ่น รวมทั้งอากาศบริสุทธิ์ซึ่งใช้เป็นตัวแปรควบคุม โดยผู้วิจัยให้อาสาสมัครได้ดมทีละกลิ่นด้วยรูจมูกแต่ละข้าง บางครั้งก็ให้ดมโดยใช้รูจมูกทั้งสองข้างพร้อมกัน แล้วจึงถามอาสาสมัครว่า พวกเขาได้กลิ่นใดทางรูจมูกไหน รูซ้าย รูขวา หรือทั้งสองข้าง โดยมีการบันทึกความเคลื่อนไหวของกระแสประสาทในสมองที่เกิดขึ้นขณะดมกลิ่นไปด้วย
.
ทีมนักวิทยาศาสตร์พบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ เช่นเมื่อให้อาสาสมัครดมกลิ่นของวัตถุเดียวกัน โดยใช้รูจมูกทีละข้าง ความเคลื่อนไหวของสมองที่เกิดขึ้นแม้จะคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันหมดเสียทีเดียว แสดงว่ามีการทำงานของประสาทรับกลิ่นที่แบ่งแยกแตกต่างกันระหว่างรูจมูกซ้ายและขวาอยู่ด้วย
.
นอกจากนี้ เมื่อดมกลิ่นจากวัตถุเดียวกันด้วยรูจมูกทั้งสองข้าง จะเกิดการเคลื่อนไหวตอบสนองในสมองที่แตกต่างกันขึ้น 2 กระบวนการ โดยสิ่งนี้แม้เกิดขึ้นเกือบจะพร้อมกัน แต่ก็ชี้ว่ารูจมูกทั้งสองข้างรับรู้กลิ่นแบบแยกเป็นเอกเทศจากกัน และไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างที่เราคิด
.
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ไม่ค่อยประสานสอดคล้องกันนักนี้ กลับมีประโยชน์ในการทำให้เรารับกลิ่นของวัตถุสิ่งหนึ่งได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการดมด้วยรูจมูกเพียงข้างเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นลักษณะพิเศษที่พบในอวัยวะที่เป็นคู่อื่น ๆ อย่างเช่นตาและหูด้วย
.
ทีมผู้วิจัยเรียกการดมกลิ่นแบบแยกข้างรูจมูกนี้ว่า “การดมกลิ่นแบบสเตอริโอ” (stereo) ซึ่งหนูและสัตว์อีกหลายชนิดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลของกลิ่นอันหลากหลายที่รูจมูกทั้งสองข้างดมตรวจจับได้นี้ จะถูกส่งไปประมวลผลที่สมองส่วน Periform Cortex (PC) เพื่อตีความออกมาเป็นกลิ่นที่เรารับรู้ได้ในที่สุด
.
ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “ข้อมูลการรับรู้กลิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งถูกส่งขึ้นมาจากรูจมูกทั้งสองข้าง จะถูกแยกออกจากกันชั่วคราวในสมองส่วน PC โดยกระบวนการนี้ส่งผลต่อการเข้ารหัสข้อมูลของระบบรับรู้กลิ่น (olfactory system) ในขั้นสุดท้าย”
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c3g2vv43klko