‘อินทรี อีโคไซเคิล’ มุ่งมั่นจัดการขยะอย่างยั่งยืน ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เดินหน้า Close the loop ใช้โมเดลรื้อร่อนขยะที่เผาไหม้ได้จากบ่อขยะชุมชน และรวบรวมขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้แปลงเป็นพลังงานความร้อนทดแทนถ่านหิน ในกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ ช่วยแก้ปัญหาขยะจากบ่อฝังกลบ ลดการรั่วไหลของขยะสู่สิ่งแวดล้อม

.

นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อินทรี อีโคไซเคิล ผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียและการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการมากว่า 22 ปี โดยให้บริการจัดการของเสียที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่การให้บริการเป็นที่ปรึกษา วิเคราะห์ของเสียในห้องปฎิบัติการ ไปจนถึงการขนส่งและกำจัดของเสียด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ โดยสามารถจัดการของเสียทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยการรื้อร่อนบ่อขยะชุมชนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) สามารถนำพลังงานความร้อนและวัตถุดิบบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ ทดแทนการใช้ถ่านหิน นับเป็นการใช้ประโยชน์จากขยะที่กองทิ้ง สนับสนุนการปิดวงจร หรือ Close the loop ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

.

นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ยังขยายขีดความสามารถในการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะงานบริการทำความสะอาด งานบริการเกี่ยวกับท่อส่งและแท็งก์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ทำความสะอาด ตลอดจนจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำความสะอาดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

.

“การขับเคลื่อน Circular Economy ต้องทำไปพร้อมกับการจัดการขยะที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ หรือ Value Chain ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากขยะเกิดจากการบริหารจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิลหรือกลับมาใช้ใหม่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภค เนื่องจากขยะที่เหลือมีทั้งที่ทิ้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง ธุรกิจของอินทรี อีโคไซเคิล เรามองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง เพื่อใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนนำส่งไปกำจัดที่ปลายทาง ” นางสาวสุจินตนา กล่าว

.

อินทรี อีโคไซเคิล ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น 1)โครงการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่นำไปรีไซเคิล

.

โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น พลาสติกยืดหยุ่น ถุงพลาสติก ภาชนะพลาสติกแบบ ใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ลดการรั่วไหลไปสู่สิ่งแวดล้อมและท้องทะเล และ2) โครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) เพื่อวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของกระบวนการเผาร่วมพลาสติกคุณภาพต่ำในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศไทย รวมทั้งทำกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครพลาสติกและการคัดแยกขยะที่เก็บได้เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ

.

ปัจจุบัน อินทรี อีโคไซเคิล เป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของผู้ให้บริการจัดการของเสียในประเทศไทย โดยให้บริการปีละ 3 แสนตัน แบ่งเป็นของเสียจากอุตสาหกรรมและจากชุมชนในสัดส่วน 50:50 ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีสัดส่วน 90:10 นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ศรีลังกา และกัมพูชา โดยให้บริการจัดการของเสียรวมปีละประมาณ 3 แสนตัน

.

อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียและการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” (INSEE Sustainability Ambition 2030) ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็น “พันธมิตรสู่ความยั่งยืน(Partnership in Sustainability) มุ่งมั่นอย่างสุดความสามารถเพื่อให้บริการด้านการจัดการของเสีย และบริการภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเพิ่มคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า อีกทั้งจะยังคงปรับตัวและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ อย่างสอดคล้องกับทิศทางโดยรวมของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าและพันธมิตรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000105209