ในอีกสองสัปดาห์ที่กำลังจะถึงนี้ คำว่า "COP28" กำลังจะได้รับการพูดถึงในระดับนานาชาติอย่างมาก เนื่องจากนี่เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จะหารือกันในเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยจะจัดขึ้นที่นครดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ UAE หนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

.

ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะมีผู้นำโลกมาร่วมงานแล้ว ยังคาดการณ์ว่าการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมอีกไม่ต่ำกว่า 70,000 คน

.

การรับเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว และยิ่งบีบีซีพบหลักฐานว่า คณะทำงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์วางแผนจะใช้การประชุม COP28 ครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีเจรจาต่อรองข้อตกลงด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก็ยิ่งสร้างความกังวลใจต่อสาธารณชนเพิ่มขึ้นไปอีก

.

ดังนั้น คำถามก็คือว่า การประชุมครั้งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงหรือไม่

.

ขณะที่ เกรียตา ทุนแบร์ย นักกิจกรรมหญิงด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นเพียง "การพูด บลา บลา บลา" ซึ่งส่งนัยว่า มีแต่การพูดคุยแต่ไม่มีการลงมือทำ

.

กระนั้น ถ้าปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการอย่างการประชุม COP เกิดขึ้น เราก็คงต้องการให้มีการหารือคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นอยู่ดี

.

ลองจินตนาการดูว่า หากสมมติคุณเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลก และพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้กำลังเผชิญกับมหันตภัยร้ายแรงที่เป็นผลพวงจากน้ำมือของมนุษย์

.

สิ่งแรกที่มนุษย์ต่างดาวจะพูดคือ "พวกคุณทั้งหมดต้องร่วมมือกันและช่วยกันหาทางออกในเรื่องนี้"

.

แต่การสร้างความก้าวหน้าก็เป็นสิ่งที่ยากลำบากไม่น้อย และคุณอาจจะรู้สึกประหลาดใจที่ค้นพบว่า ครั้งแรกที่ผู้นำโลกมีความเห็นตรงกันในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง ในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ซึ่งฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ

.

ในครั้งนั้น เกือบ 200 ประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันคงการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามที่จะจำกัดไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่ระบุไว้ว่า นั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้โลกหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากสภาพภูมิอากาศได้

.

นั่นจึงนำไปสู่ "ความตกลงปารีส" ในปี 2015 ที่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิด "มาตรการต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกือบจะพร้อมใจกันทั่วโลก" ตามที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้กล่าวไว้ และยังสามารถช่วยลดระดับของภาวะโลกร้อนได้อีกทางด้วย

.

อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดของยูเอ็นยืนยันว่า ในขณะนี้ ทั้งโลกยังคงไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่ใกล้เคียงกับ พันธสัญญาที่ได้ให้ไว้เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส

.

และการพยายามหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวก็จะเป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญที่สุดในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้

.

การประชุมสุดยอด COP28 จะคุยเรื่องอะไรอีกบ้าง
วาระสำคัญที่สุดในการประชุมในครั้งนี้ คือความพยายามที่จะทำให้เกิดความตกลงหนึ่ง ที่จะทำให้สัญญาต่าง ๆ ที่ประเทศภาคีได้ให้ไว้ มีรายละเอียดและ่ความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คำสัญญาดังกล่าวของประเทศต่าง ๆ รู้จักกันในชื่อ 'การมีส่วนร่วมที่แต่ละประเทศกำหนดเอง' หรือ Nationally Determined Contributions : NDCs

.

แนวคิดก็คือคำมั่นสัญญาของประเทศต่าง ๆ ควรที่จะยิ่งเข้มงวดขึ้นและกำหนดเป้าหมายให้ทะเยอทะยานขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

.

ความหวังประการหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ คือการทำให้คำมั่นสัญญาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยายกว้างขึ้นและครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เช่น การเกษตรและอาหาร เป็นต้น

.

ในปัจจุบัน ความตกลงปารีสไม่มีผลบังคับต่อประเทศต่าง ๆ ให้ดำเนินการใด ๆ ได้ เนื่องจากในกระบวนการต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ การดำเนินการต่าง ๆ เป็นเพียงการอาสา

.

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือเรื่อง "เงินทุน" ซึ่งจะต้องเจรจากันอีกเยอะว่า ใครจะเป็นผู้จ่าย จ่ายใคร และเพื่ออะไร

.

กระนั้นก็พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ในตอนนี้มีราคาถูกลงมาก ขณะที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นก็ราคาถูกกว่าพลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วในหลายกรณี

.

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่าง ลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านี้ให้เร็วกว่านี้อีก

หนึ่งในเป้าหมายของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือต้องการให้ทั่วโลกลงนามความตกลงในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าจากปัจจุบันภายในปี 2030 ซึ่งในขณะนี้ สหรัฐอเมริกา, จีน และชาติสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม G20 เห็นพ้องไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้เกิดความตกลงอีกหนึ่งฉบับว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 ด้วย

.

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวยังจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมหาศาล แม้ว่ามาตรการเหล่านั้นจะช่วยให้ผู้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาวก็ตาม ขณะเดียวกัน การเตรียมความพร้อมและการจัดการกับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะต้องใช้เงินอีกหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการประชุมครั้งนี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกับในโลกใบนี้ เช่น ประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาผ่านการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล

.

ขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่า บอกว่า ชาติมั่งคั่งจำเป็นต้องใช้เงินเหล่านั้นมาช่วยเหลือพวกเขาในการพัฒนาพลังงานสะอาดและช่วยจัดการกับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่จากมาจากน้ำมือของชาติที่ร่ำรวยเหล่านั้น

.

สำหรับสัญญาที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นมานานแล้วคือ พวกเขาจะหาเงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศราวหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นคำมั่นที่บอกว่าจะทำให้สำเร็จภายปี 2020 และดูเหมือนว่าเป้าหมายนี้ได้ถูกบรรลุไปแล้ว

.

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องจับตาคือ การดูว่าสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่าง ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ จะอ่อนข้อให้กับแรงกดดันให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนคล่องขึ้นหรือไม่

.

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 ในการประชุม COP 27 ที่อียิปต์เป็นเจ้าภาพ ความสำเร็จครั้งสำคัญคือ การจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage fund) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

.

แต่ว่า ประเทศใดที่จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้กองทุนดังกล่าวบ้าง มีเพียงสหภาพยุโรปที่แสดงออกว่าจะยอมสมทบทุนให้ แต่ประเทศอย่าง สหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

.

ขณะที่ จีน, ซาอุดีอาระเบีย และรัฐต่าง ๆ ในย่านอ่าวเปอร์เชีย ยังคงได้รับการนิยามว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาในการประชุม COP ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีความรับผิดชอบในการจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนดังกล่าว

.

และสุดท้าย เรายังคงคาดหวังที่จะเห็นการถกเถียงที่เกิดขึ้นเป็นประจำในการประชุม COP นั่นคือ เราจะ "ลด หรือ เลิก" การใช้แหล่งพลังงานไม่สะอาดอย่าง ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

.

พูดอีกอย่างก็คือ เราควรจะค่อย ๆ ลดการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นมลพิษเหล่านี้ ("ลดการใช้") หรือควรจะกำหนดวันที่เราจะยุติการใช้พวกมันโดยสมบูรณ์ไปเลย ("เลิกใช้") และวันนั้นควรเป็นเมื่อไหร่

.

การประชุม COP28 ครั้งนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อกำหนดวันสิ้นสุดการปล่อยมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้หรือไม่

สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธานการประชุม COP28 ต้องการให้ใช้คำว่า “ลดการใช้” แต่คาดว่าหลายประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป จะผลักดันในที่ประชุมให้โอบรับการ "เลิกใช้" เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิง

.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้งโลกยังไม่มีการตกลงอย่างเป็นทางการเลยว่าจะเอาแนวคิดใดไปใช้

.

แม้จะมีคำเตือนว่า ในปัจจุบัน มีเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังถูกผลิตหรือวางแผนว่าจะผลิต มากกว่าจุดที่ทั่วโลกจะสามารถใช้ได้จริง หากเราต้องการที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

.

รายงานเพิ่มเติมโดย มาร์ก พอยน์ทิง

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cg6p0eng57xo