คำกล่าวจากนิยายกำลังภายในซึ่งได้ยินกันบ่อยครั้ง ที่ว่าจุดอ่อนของบุรุษผู้ห้าวหาญอยู่ที่น้ำตาของอิสตรีนั้น เห็นจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก เพราะล่าสุดมีผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า ชายที่ได้ดม “กลิ่นน้ำตา” ของหญิงที่กำลังร้องไห้ จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงลดลงไปทันที

.

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ของอิสราเอล (WIS) และศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก (DUMC) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร PLOS Biology โดยระบุว่า น้ำตาที่หลั่งออกมาเพราะอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ มีสารเคมีที่สามารถส่งสัญญาณไปลดระดับของฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรนลง และทำให้สมองของผู้ที่ได้กลิ่นน้ำตามีการทำงานเปลี่ยนไป

.

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบแล้วว่า น้ำตาไม่ได้มีไว้เพียงแค่หล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับดวงตาเท่านั้น แต่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ยังสามารถหลั่งน้ำตาขณะเกิดอารมณ์โศกเศร้าหรือตื้นตันใจได้อีกด้วย โดยผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่า น้ำตาของมันมีสารเคมีที่สามารถส่งสัญญาณไปกระตุ้นระบบประสาทของหนูตัวอื่น ผ่านช่องทางของประสาทรับกลิ่น เพื่อให้เกิดพฤติกรรมทางสังคมที่พึงปรารถนาได้

.

ทีมผู้วิจัยจากสถาบัน WIS และ DUMC จึงทำการทดลองครั้งแรกในมนุษย์ เพื่อดูว่าน้ำตาของคนเราจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบเดียวกับที่พบในหนูทดลองหรือไม่ โดยให้อาสาสมัครชายจำนวนหนึ่ง ดมตัวอย่างน้ำตาที่ได้มาจากผู้บริจาคหญิง ส่วนอาสาสมัครชายอีกกลุ่มหนึ่งจะได้ดมเพียงน้ำเกลือธรรมดา จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มจับคู่กันเล่นเกมที่จะกระตุ้นให้แสดงความก้าวร้าวออกมา

.

เงื่อนไขของเกมจะทำให้ผู้เล่นทั้งสองเชื่อว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังโกงเพื่อเอาชนะ แต่เงื่อนไขนี้ก็เปิดโอกาสให้สามารถลงมือแก้แค้นฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อว่าเป็นคนขี้โกงได้ด้วย ซึ่งผลปรากฏว่าคนที่ได้ดมกลิ่นน้ำตาของผู้หญิง ลงมือแก้แค้นและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อฝ่ายตรงข้ามน้อยกว่าคนที่ดมน้ำเกลือถึง 44%

.

แม้น้ำตาและน้ำเกลือจะเป็นสารละลายที่ไร้สีไร้กลิ่นทั้งคู่ แต่น้ำตานั้นมีความแตกต่างตรงที่สามารถกระตุ้นตัวรับ (receptor) ของประสาทรับกลิ่นได้ ซึ่งผลการทดสอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการพบว่า ในบรรดาตัวรับ 62 ตัว ของเซลล์ประสาทรับกลิ่นในมนุษย์ มีตัวรับถึง 4 ตัว ที่ตอบสนองต่อสัญญาณเคมีจากน้ำตา

.

นอกจากนี้ ผลสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) ที่ทำกับสมองของชายที่ดมกลิ่นน้ำตาหญิง ยังพบว่าสมองสองส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าว ได้แก่สมองส่วนกลีบหน้าผากที่เรียกว่า prefrontal cortex และสมองด้านในของส่วนหน้า anterior insula มีการทำงานและความเคลื่อนไหวลดลงกว่าระดับปกติด้วย

.

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยพบว่าองค์ประกอบทางเคมีของน้ำตาผู้หญิง ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากน้ำตาของผู้ชาย หรือน้ำตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นอย่างเช่นหนูและสุนัข ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พวกเขาตั้งข้อสันนิษฐานว่า ความสามารถยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ได้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่มีเฉพาะในน้ำตาของมนุษย์เพศหญิงเท่านั้น แต่น่าจะเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปกับน้ำตาของคนและสัตว์ในทุกเพศมากกว่า

.

แต่ด้วยเหตุที่สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถร้องไห้ได้ง่ายและบ่อยครั้งยิ่งกว่าผู้ชาย จึงทำให้เราสังเกตเห็นความอ่อนแอของบุรุษต่อน้ำตาของอิสตรีได้ชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตาม ผลทดสอบทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า น้ำตาของฝ่ายตรงข้ามสามารถลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายลงได้มากกว่า เมื่อเทียบกับปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกันที่พบในผู้หญิง

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปในรายงานว่า “ความอ่อนแอในใจที่เกิดขึ้นจากการได้กลิ่นน้ำตาของอีกฝ่าย น่าจะเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งเราได้พัฒนาการสื่อสัญญาณเคมีในน้ำตาเพื่อป้องกันอันตรายให้ตนเองได้ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเพศแต่อย่างใด”

.

“หากพิจารณาดี ๆ จะพบว่า การได้กลิ่นน้ำตานั้นจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอยู่ในระยะที่ใกล้ชิดกันมาก ดังที่มีคำกล่าวว่า ‘จูบแก้มเปื้อนน้ำตา’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นกับคู่รักหรือกับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก”

.

“เราสันนิษฐานว่า พฤติกรรมทะนุถนอมแสดงความอ่อนโยนต่อคนที่หลั่งน้ำตา โดยพื้นฐานแล้วน่าจะมาจากวิวัฒนาการที่ทำให้คนเราใส่ใจเลี้ยงดูทารกให้อยู่รอดมากกว่าสาเหตุอื่น เพราะทารกที่ยังพูดสื่อสารไม่ได้ จะใช้สัญญาณเคมีจากน้ำตาแทนคำพูด เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่และคนรอบข้างหันมาใส่ใจดูแลขณะที่ร้องไห้”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c2lyv3d0kkko