"ฤดูร้อน” เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลของประเทศไทยที่หลายคนไม่อยากให้ถึง เนื่องจากเป็นฤดูการที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี มีช่วงเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นฤดูกาลที่อากาศแจ่มใสเหมาะกับการไปเที่ยวทะเล

.

MGROnline Science จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ “ฤดูร้อน” หรือ “คิมหันตฤดู” ฤดูที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี 1 ใน 3 ฤดูกาลสำคัญของประเทศไทย ว่าเริ่มเมื่อไหร่ สิ้นสุดช่วงไหนของปี สังเกตได้จากอะไร

.

ฤดูร้อนของประเทศไทยนั้นเป็นฤดูกาลที่ต่อเนื่องจากฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ระยะเวลาราว 2 เดือนครึ่ง ซึ่งถือเป็นฤดูกาลที่มีระยะสั้นที่สุดของประเทศไทย เป็นช่วงที่มีท้องฟ้าแจ่มใสที่สุด แต่มีอุณหภูมิสูงที่สุด โดยอุณหภูมิอยู่ที่ระหว่าง 35 - 39.9 องศาเซลเซียส ส่วนถ้าอากาศร้อนจัด จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

.

ด้วยอุณหภูมิที่สูงและแสงแดดที่ร้อนแรงจึงทำให้สภาพแวดล้อมในฤดูกาลนี้มีความแห้งแล้ง น้ำในแม่น้ำบางแห่งลดลงและแห้งขอด มีอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป ร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน แต่ในบางครั้งในช่วงนี้อาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลอากาศเย็นกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้เรียกว่า “พายุฤดูร้อน”

.

ในทางดาราศาสตร์ ฤดูร้อนเกิดจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากแกนโลกเอียงจากแนวดิ่ง 23 องศา ตลอดเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ นั่นคือ ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปก็เอียงไปด้วย โดยในช่วงนี้โลกจะหันด้านซีกโลกเหนือ เข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่อยู่ในโซนนี้ จากการหันด้านซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้พลังงานจากการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ กระทำต่อพื้นที่ประเทศไทยแบบโดยตรง โดยไม่ถูกลดทอนจากชั้นบรรยากาศ ทำให้ในฤดูร้อนจึงมีอุณหภูมิที่สูงและมีระยะเวลากลางวันที่ยาวนานกว่ากลางคืน

.

สำหรับในปี 2567 นี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการพยากรณ์คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2567 (ออกประกาศเมื่อวันที่ออกประกาศวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2567 ) ว่า

.

ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้

.

สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30

.

อนึ่ง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีมักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้

.

ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้นมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว

.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000008276