ภาพแห่งความตื่นตาตื่นใจที่คนไทยต้องร่วมกันอนุรักษ์

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง - Mu Ko Ang Thong National park เผยภาพการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติของวาฬบรูด้าแห่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งสร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้มาชมด้วยตาตนเองซึ่งยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง

.

ล่าสุดเมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา พบประชากรวาฬบรูด้า จำนวน 5 - 6 ตัว ยังคงวนเวียนหากินอยู่ในพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะนายพุด ด้วยความร่วมมือจากเรือนำเที่ยวทุกลำ ที่ดับเครื่องยนต์และลอยลำเฝ้ารอบันทึกภาพ สร้างความสงบและปลอดภัยให้ฝูงวาฬบรูด้าที่เข้ามาหากินให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิดโดยไม่ตื่นตระหนกใดๆ นับว่าเป็นความประทับที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการ ไกด์นำเที่ยว ผู้บังคับเรือและนักท่องเที่ยวทุกคน ที่จะช่วยดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลที่ล้ำค่าให้อยู่คู่ทะเลอ่าวไทย

.

สำหรับวาฬบรูด้าในประเทศไทย แพร่กระจายทั้งในฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่ามีการเคลื่อนย้ายตามอาหารไปทางด้านล่างของอ่าวไทย เช่นที่เคยพบบริเวณบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณที่พบวาฬบรูด้านั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 4-30 กิโลเมตร สามารถพบวาฬบรูด้าได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ช่วงเวลาที่พบบ่อยอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีปลากะตักและกุ้งเคยอุดมสมบูรณ์ ปกติจะหากินแบบตัวเดียว ยกเว้นเฉพาะคู่แม่ลูกที่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา

.

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ดำเนินการศึกษาจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยการใช้ภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน อาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่างๆ ตามลำตัว ปกติจะหากินแบบตัวเดียว ยกเว้นเฉพาะคู่แม่ลูกที่จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ดูข้อมูลวาฬบลูด้าในไทยเพิ่มเติมhttps://km.dmcr.go.th/c_250/d_9775

.

ปัจจุบันวาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ จัดเป็นวาฬขนาดใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ สถานการณ์อนุรักษ์ปัจจุบัน คือ NT ซึ่งหมายถึงใกล้ถูกคุกคาม

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000012727