ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทวีปแอนตาร์กติกา

ระบบปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI รุ่นใหม่ คือ เครื่องมือที่ถูกวางตัวให้มาเป็นผู้ช่วยในการจัดทำแผนที่และติดตามการเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาด้วยการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง หรือ real time

.

นักวิทยาศาสตร์จาก Arctic University of Norway คือ ผู้ที่ทำการพัฒนาอัลกอริทึมให้กับระบบ AI เพื่อจัดทำแผนที่พื้นผิวและโครงร่างของภูเขาน้ำแข็ง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้รับมาจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA)โดยความก้าวหน้านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามดูว่า ภูเขาน้ำแข็งนั้นมีการหดตัวหรือแตกออกจากกันได้อย่างไร ในขณะที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอยู่ แทนที่จะเป็นการประเมินย้อนหลัง

.

ดร.แอนน์ บราคมันน์-โฟล์กมันน์, นักวิทยาศาสตร์จาก Arctic University of Norway

ดร.แอนน์ บราคมันน์-โฟล์กมันน์ อธิบายถึงความอัจฉริยะและความรวดเร็วของระบบ AI นี้ ว่าสามารถประมวลผลได้ไวกว่ามนุษย์ถึง 10,000 เท่า โดยปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถร่างแผนที่ขอบเขตของภูเขาน้ำแข็ง และโครงร่างภูเขาน้ำแข็งด้วยระยะเวลาเพียงหนึ่งในร้อยของวินาที ขณะที่ มนุษย์นั้นต้องใช้เวลานานหลายนาที

.

เครื่องมือใหม่นี้ยังนำเสนอข้อมูลที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสถานการณ์ได้ดีกว่าการใช้ข้อมูลจากบริการแผนที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมักประสบปัญหาการแยกภูเขาน้ำแข็งออกจากองค์ประกอบอื่น ๆ ภายในภาพ

.

อย่างไรก็ดี ขณะที่ การวิเคราะห์ตีความภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยมนุษย์ยังคงมีความแม่นยำมากกว่า การที่กระบวนการนี้ที่ต้องใช้เวลานานกว่า ทำให้ดร.บราคมันน์-โฟล์กมันน์ เชื่อว่า ระบบ AI นี้เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่ามาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสำคัญของการติดตามเฝ้าดูภูเขาน้ำแข็งเพื่อจุดประสงค์ด้านความปลอดภัยทางน้ำและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

.

นักวิทยาศาสตร์ติดตามการเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งจากภาพถ่ายดาวเทียมและปัญญาประดิษฐ์

ทั้งนี้ การประมวลผลที่ว่องไวจาก AI ช่วยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบการไหลเข้าของน้ำจืด การเพิ่มหรือลดปริมาณน้ำในมหาสมุทร ที่มีผลทำให้ภูเขาน้ำแข็งหดตัวหรือขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

.

ในทัศนะของ ดร.บราคมันน์-โฟล์กมันน์ นั้น สิ่งที่เป็นปัญหาคอขวดตลอดเวลาที่ผ่านมาคือ การที่นักวิทยาศาสตร์ต้องสรุปรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของโครงร่างภูเขาน้ำแข็งด้วยมือ ซึ่งทำให้การทำงานนั้นล่าช้า แต่ระบบใหม่นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถรวบรวมข้อมูลทุกอย่างมาประมวลร่วมกัน และคำนวณการไหลเข้ามาของน้ำจืดทั้งหมดจากภูเขาน้ำแข็งได้โดยอัตโนมัติด้วย

.

ดร. บาบลู ซินฮา จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของสหราชอาณาจักร

ดร. บาบลู ซินฮา จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของสหราชอาณาจักร (National Oceanography Center) กล่าวเสริมว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเฝ้าประมวลผลข้อมูลได้ในทันที แม้ในพื้นที่ห่างไกลและยากจะเข้าถึง

.

ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อทำแผนที่ภูเขาน้ำแข็ง

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังได้อธิบายถึงความสำคัญในการติดตามข้อมูลของภูเขาน้ำแข็งว่า ประเด็นนี้มีผลกระทบตต่อหลายภาคส่วน เช่น ความปลอดภัยในการขนส่งทางเรือ หรือ การเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งที่อาจสร้างความเสียหายต่อสายเคเบิลใต้ท้องทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสารได้ เป็นต้น

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/ai-helps-map-and-track-giant-icebergs-from-space/7493850.html