สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย (อว.) ร่วมกิจกรรม ‘HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน’ แฮกกาธอน (Hackathon) ด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ระดมสมองหน่วยงานรัฐ เอกชน สร้างนวัตกรรม จาก 8 โจทย์สำคัญ สร้างทางเลือกใหม่ เสริมสุขภาวะทางใจ เน้นเข้าถึงระบบส่งเสริม ป้องกัน ก่อนป่วย อย่างเท่าเทียม เพื่อเป้าหมายในการรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

.

โดย 8 มิติความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ที่เป็นโจทย์ในการแฮกครั้งนี้ ได้แก่ การออกแบบเมือง (Urban Planning), องค์กรแห่งความสุข (Happy Work), Happy e-Work, การสื่อสาร (Communication), บังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcer), ระบบยุติธรรม (Justice System), Mental Health Insurance หรือการประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคจิตเวชที่ยังไม่มีมาก ราคาแพง คุ้มครองน้อย และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นโจทย์ของ NIA จากข้อมูลพบว่า ไทยมีทรัพยากรที่สนับสนุนระบบสุขภาพจิตน้อยในขณะที่จำนวนผู้ป่วยจิตเวชพุ่งทะยานขึ้นทุกปี (ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 12.09% และผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้น 16.60%)

.

บรรยากาศกิจกรรม HACK ใจทั้ง 3 วันเต็มไปด้วยกิจกรรมชวนใจฟู ทั้งการทำความเข้าใจบริบทสุขภาวะจิตสังคมไทย และการวิเคราะห์ชั้นสาเหตุ (Causal layered analysis) เพื่อแฮกหาไอเดีย Solution ในการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต จุดบริการพักท้อง พักใจ และวันสุดท้ายเป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมฮีลใจจาก 8 กลุ่มเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวเปิดงานนำเสนอนวัตกรรม HACK ใจว่า

.

"NIA ทำแฮกกาธอนนวัตกรรมมาหลากหลายโจทย์แล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มา HACK ใจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เรามีเครื่องมือเชิงนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหา หากแต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราแก้ปัญหาเชิงสังคมได้อย่างยั่งยืน คือ การร่วมมือกันทุกภาคส่วน"

.

นอกจากนี้ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA , พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, คุณสุวิตา จรัญวงศ์ CEO and Co-Founder Tellscore และ กลุ่มเยาวชน INDY CAMP

.

ยังได้ร่วมให้คำแนะนำทั้ง 8 ทีมเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดทุกนวัตรรมให้เกิดขึ้นจริงและใช้งานได้อย่างยั่งยืนโดยทีม NIA ได้นำเสนอผลงานการ HACK ใจ ด้วยการสร้างกลไกส่งเสริมนวัตกรรมผ่านเครื่องมือของ NIA โดยใช้กลยุทธ์ Innovation Diffusion หรือทฤษฎีการแพร่กระจายของนวัตกรรมเริ่มต้นที่ชุมชน ออกมาเป็นผลงานนวัตกรรม "ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย (Innovation)" ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมใน 3 ประเด็นหลัก คือ

.

- Creative Innovation ดึงจุดเด่นในชุมชน ใส่นวัตกรรมในสินค้า บริการ และระบบเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทั้งทางใจและทางเศรษฐกิจกลับไปในชุมชน

- Data-driven Innovation

ใช้ข้อมูลหรืองานวิจัยในการเลือกใช้หรือสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะในแต่ละชุมชน

- Area-based Innovation สื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ด้านนวัตกรรมสุขภาพจิตผ่าน NIA Regional Hub

.

สำหรับผลงานนวัตกรรม "ใจฟู Community" เกิดจากความตั้งใจที่จะเปลี่ยนป้าข้างบ้าน เป็นป้าข้างใจ เปลี่ยนสังคมรอบกาย ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างโมเดลการใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ สร้างสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายใจฟู Creator ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสุขภาพจิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินงานให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพใจ ระบบที่ 2 คือการดึง Influencer เป็นกาวใจในการพูดเรื่องสุขภาพจิต และระบบที่ 3 ใช้บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนนำสร้างชุมชนส่งเสริมสุขภาพจิต สุดท้ายระบบที่ 4 คือ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาจนหายดีแล้วมาร่วมเป็นแรงบันดาลใจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป้าหมายการสร้าง Ecosystem ที่ดีทางสุขภาพจิตให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยให้ได้

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000020381