รังสีจากไมโครเวฟไม่มีอันตรายต่อร่างกาย
นักวิทยาศาสตร์ไม่พบความเสี่ยงใด ๆ จากรังสีที่เกิดขึ้นจากไมโครเวฟ แต่ว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติกอยู่ นี่คือรายงานล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทานอาหารที่ผ่านไมโครเวฟ
.
ไมโครเวฟเป็นเครื่องมือในครัวมาหลายทศวรรษแล้ว แต่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพียงไม่กี่ชนิดที่สร้างความแตกแยกได้มากไปกว่าไมโครเวฟ มันถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ทำอาหารไม่เป็นหรือคนที่ไม่อยากทำอาหาร ทว่ามันกลับถูกเหล่าคนครัวมืออาชีพหรือเชฟบางคนบอกว่าเป็นตัวฉุดรั้งศิลปะการทำอาหารลงเหว
.
แต่ยังมีอีกประเด็นข้อพิพาทที่ไปไกลกว่าเรื่องศิลปะในการทำอาหาร นั่นคือการปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
.
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมื่อใช้ไมโครเวฟอย่างถูกวิธีแล้ว ปัญหาเรื่องรังสีจากไมโครเวฟนั้นไม่มีอะไรอันตราย แต่ยังมีข้อกังวลอื่น ๆ ที่ยังไม่ชัดเจน เช่น การใช้ไมโครเวฟปรุงอาหารทำให้สูญเสียสารอาหารหรือไม่ หรือการอุ่นอาหารในพลาสติกทำให้เกิดการรบกวนฮอร์โมนได้หรือไม่
.
ไมโครเวฟทำให้สูญเสียสารอาหารจริงไหม?
งานวิจัยบางฉบับระบุว่า พืชผักบางประเภทสูญเสียสารอาหารบางส่วนไปจากการไมโครเวฟ
.
ยกตัวอย่างเช่น มีการพบว่าการไมโครเวฟทำให้สูญเสีย 97% ของฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ในบรอกโคลี ซึ่งเป็นสารประกอบในผักที่ช่วยเรื่องยับยั้งการอักเสบ นี่เท่ากับว่าการไมโครเวฟทำให้สูญเสียสารดังกล่าวมากกว่าการต้มถึงหนึ่งในสาม
.
การศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2019 พบว่าเวลาการปรุงอาหารที่สั้นลง (พวกเขาไมโครเวฟบรอกโคลีเป็นเวลาหนึ่งนาที) ไม่ทำลายสารอาหาร อีกทั้งการนึ่งและไมโครเวฟยังสามารถเพิ่มปริมาณของฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่เชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
.
"ภายใต้เงื่อนไขการปรุงอาหารที่ใช้ในการศึกษานี้ การใช้ไมโครเวฟดูเหมาะสมกว่าการนึ่งเพื่อรักษาฟลาโวนอยด์" นักวิจัยเขียน
.
อย่างไรก็ตาม พวกเขาพบว่าการไมโครเวฟโดยใส่น้ำมากเกินไป (ระดับที่เทียบเท่ากับการต้ม) จะทำให้ฟลาโวนอยด์ลดลง
.
งานวิจัยหนึ่งพบว่า การไมโครเวฟรักษาสารอาหารที่เป็นประโยชน์ในบรอกโคลีได้ดีกว่าการนึ่ง
นักวิจัยหลักอย่าง เซียนลี วู (Xianli Wu) นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยโภชนาการมนุษย์ Beltsville ของกรมเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ยังไม่มีการสรุปร่วมว่ากลไกใดที่ทำให้การใช้ไมโครเวฟสามารถเพิ่มปริมาณฟลาโวนอยด์ได้ เขากล่าวว่าอาจเป็นไปได้ว่าการใช้ไมโครเวฟทำให้วัดปริมาณฟลาโวนอยด์ได้ง่ายขึ้นเพราะเนื้อเยื่อของพืชอ่อนนุ่มขึ้นจนง่ายต่อการสกัดสารดังกล่าวออกมา
.
เซียนลี วู เสริมว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการใช้ไมโครเวฟกับผักจะรักษาสารอาหารได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ หรือไม่ นั่นเป็นเพราะว่าอาหารแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในเรื่องของเนื้อสัมผัสและธาตุอาหารที่พวกมันมี
.
"แม้ว่าโดยทั่วไปการใช้ไมโครเวฟจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่เวลาที่เหมาะสมจะแตกต่างกันตามชนิดของพืชผัก" เซียนลี วู กล่าว "เมื่อพิจารณาวิธีการปรุงอาหารที่ใช้บ่อย ๆ ในครัวเรือน การใช้ไมโครเวฟก็เป็นวิธีที่ดีกว่าวิธีอื่น ๆ อย่างน้อยก็สำหรับพืชผักหลายชนิด แต่อาจไม่เหมาะสมกับพืชผักทุกประเภท"
.
การศึกษาล่าสุดเมื่อปี 2023 ยังยืนยันข้อดีของไมโครเวฟอีกครั้ง นักวิจัยได้เปรียบเทียบผลกระทบของการต้ม, การนึ่ง และการใช้ไมโครเวฟกับผักต่าง ๆ และสรุปว่าการใช้ไมโครเวฟเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาสารอาหาร
.
อุ่นไมโคเวฟด้วยภาชนะพลาสติกอันตรายไหม?
งานวิจัยในปี 2011 ศึกษาภาชนะพลาสติกที่ออกแบบมาใส่อาหารกว่า 400 ชิ้น และพบว่าภาชนะส่วนใหญ่มีการรั่วไหลของสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย
เรามักจะไมโครเวฟอาหารในภาชนะและบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่าการกระทำเช่นนี้นำไปสู่ความเสี่ยงในการรับสารพทาเลต (Phthalates) เข้าสู่ร่างกาย เมื่อโดนความร้อน สารที่ถูกเติมในพลาสติกเหล่านี้สามารถแตกตัวและซึมผ่านเข้าสู่อาหารได้
.
"พลาสติกบางประเภทไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้กับไมโครเวฟ เพราะมันมีพอลิเมอร์ (polymer) ภายในเพื่อทำให้มันอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ซึ่งจะละลายที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่าและอาจซึมผ่านระหว่างกระบวนการไมโครเวฟถ้ามีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส" จูหมิง ถัง นักวิชาการด้านวิศวกรรมอาหาร จากมหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน กล่าว
.
งานวิจัยในปี 2011 ศึกษาภาชนะพลาสติกที่ออกแบบมาใส่อาหารกว่า 400 ชิ้น และพบว่าภาชนะส่วนใหญ่มีการรั่วไหลของสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย
.
พทาเลตเป็นหนึ่งในสารที่พบบ่อยมากที่สุดในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากมันช่วยทำให้พลาสติกยืดหยุ่นได้ และมักพบในบรรจุภัณฑ์สำหรับการสั่งอาหารกลับบ้าน พลาสติกห่ออาหาร และขวดน้ำพลาสติก สารชนิดนี้อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนและระบบเผาผลาญของร่างกาย สารพทาเลตอาจเพิ่มความดันโลหิตและภาวะดื้ออินซูลินในเด็ก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) หรือภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ การได้รับสารพทาเลตยังอาจส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก โรคหอบหืด และสมาธิสั้น (ADHD)
.
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การนำพลาสติกที่มีสารพทาเลตไปเข้าไมโครเวฟ จะยิ่งเพิ่มการสัมผัสกับสารตัวนี้
เลโอนาร์โด ทรานแซนด์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชากร จากโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU School of Medicine) ในนิวยอร์ก กล่าวว่า สารพทาเลตยังอาจรบกวนฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์
.
พทาเลตเป็นสารที่พบได้ทั่วไป แม้กระทั่งในของเล่นและโลชันทาผิว แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามันส่งผลเสียหายมากแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การนำพลาสติกที่มีสารพทาเลตไปเข้าไมโครเวฟนั้นจะยิ่งเพิ่มการสัมผัสกับสารเคมีตัวนี้
.
สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ เวลาอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก การสัมผัสสารเคมีอาจเกิดขึ้นได้กระทั่งกับพลาสติกส่วนที่ไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น บริเวณฝาปิด
.
รอล์ฟ ฮาลเดน ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบชีวภาพเพื่อวิศวกรรมสุขภาพสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) อธิบายว่า "ไอน้ำจะระเหยขึ้นมาจากอาหาร แล้วไปเกาะกลั่นตัวที่ด้านใต้ของฝาปิด จากนั้นสารเคมีที่สกัดออกมาจากฝาปิดจะตกลงไปในอาหารของคุณ มันจะอยู่ในรูปหยดน้ำ"
.
วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงคือ การใช้ภาชนะชนิดอื่นที่ปลอดภัยสำหรับไมโครเวฟแทนพลาสติก เช่น เซรามิก ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องใช้ภาชนะพลาสติก ควรหลีกเลี่ยงภาชนะที่เสียรูปทรง เนื่องจากภาชนะที่เก่าและมีรอยรั่วมีแนวโน้มที่จะปล่อยสารเคมีออกมาได้มากกว่า นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบสัญลักษณ์รีไซเคิลสากลของภาชนะ ซึ่งมักอยู่ที่ก้นภาชนะ โดยภาชนะที่มีหมายเลข 3 และตัวอักษร "V" หรือ "PVC" จะเป็นภาชนะประเภทที่มีสารพทาเลต
.
ไม่มีความเสี่ยงจากรังสี
รังสีในไมโครเวฟไม่เป็นอันตรายเลยต่อมนุษย์ ไมโครเวฟใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในหลอดไฟและวิทยุ เมื่อคุณนำอาหารเข้าไมโครเวฟ อาหารจะดูดซับคลื่นไมโครเวฟเหล่านี้ ซึ่งทำให้โมเลกุลน้ำในอาหารสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดแรงเสียดทานที่ทำให้อาหารร้อนขึ้น
.
ดร.จูหมิง ถัง กล่าวว่า มนุษย์เองก็ดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นกัน แต่โดยปกติแล้วเตาไมโครเวฟจะผลิตคลื่นความถี่ค่อนข้างต่ำและถูกกักเก็บอยู่ภายในไมโครเวฟ และหากว่ามีคลื่นรั่วไหลออกมา คลื่นเหล่านี้ก็ไม่เป็นอันตราย (แน่นอนว่า ความร้อนในไมโครเวฟนั้นไม่ปลอดภัย ดังนั้นคุณไม่ควรเอาสิ่งมีชีวิตไปใส่ไว้ในไมโครเวฟ)
.
"ไมโครเวฟเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราสัมผัสทุกวัน เวลาอบขนมปัง คุณก็สัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและพลังงานอินฟราเรดจากองค์ประกอบความร้อนของเตาอบ แม้แต่คนเราก็ยังแลกเปลี่ยนคลื่นรังสีซึ่งกันและกัน" ดร.ถัง กล่าว
.
"ถ้าคุณกินพืชผลที่ปลูกจากแสงแดด คุณก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับอาหารจากไมโครเวฟ"
.
ไมโครเวฟไม่ได้ใช้รังสีไอออไนซ์ (ionising radiation) ซึ่งหมายความว่า มันไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะแยกอิเล็กตรอนออกจากอะตอม ไม่เหมือนรังสีเอกซเรย์
.
"คุณต้องตัดพันธะทางเคมีเพื่อทำลายดีเอ็นเอ (สารพันธุกรรม) นี่เป็นวิธีหลักที่รังสีใช้ทำลาย มันทำให้เซลล์กลายพันธุ์และทำให้เกิดโรคมะเร็ง" ทิโมธี เจอร์เกนสัน รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์รังสีจากศูนย์กลางทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) กล่าว
.
รศ.เจอร์เกนสัน กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับรังสีไมโครเวฟนั้นได้รับการคลี่คลายไปมากแล้วในช่วงหลายปีหลัง
.
ข้อมูลจากงานวิจัย ไมโครเวฟถือเป็นเครื่องใช้ในครัวที่ปลอดภัยมานานแล้ว แต่ก็มีข้อแม้บางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญยังคงกังวลเกี่ยวกับภาชนะพลาสติกที่เราใช้ในไมโครเวฟ ซึ่งสามารถรบกวนฮอร์โมนของเรา และส่งผลต่อสุขภาพของเราในภายหลังได้
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cz9z4wqlkdyo