บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกับมูลนิธิยูนูส ประเทศไทย และศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ หรือ SEAMEO SEPS ประกาศความสำเร็จในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการรีไซเคิล 'Waste Hero' ในปี 2566 ซึ่งสามารถเข้าถึงนักการศึกษา และเยาวชน 420,332 คนทั่วโลก และสร้างผลตอบแทนทางสังคม (Social Return On Investment : SROI) อย่างมีนัยสำคัญถึง 4.49 เท่าต่อทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐ ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

.

เว็บไซต์ www.WasteHeroEducation.com ส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านการรีไซเคิล การสร้างของเสียให้เป็นศูนย์ และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำเสนอสื่อการสอนบนเว็บไซต์ให้ครูเข้าถึงและปรับใช้เนื้อหาการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมห้องเรียนได้อย่างง่ายดาย โดยมีแผนการสอนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 19 บทเรียน ด้วยภาษาต่างๆ มากมาย ใน 6 ระดับการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านการศึกษา ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 23 คน จาก 17 ประเทศ โครงการ Waste Hero ช่วยให้ชุมชนจัดการขยะในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ และการลดขยะ ให้กับบุคลากรของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น โครงการนี้นับเป็นส่วนสำคัญของความมุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของอินโดรามา เวนเจอร์ส

.

นักเรียนและนักการศึกษากว่าร้อยละ 80 แสดงความพึงพอใจต่อทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้นี้ โดยโครงการได้รับผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) อย่างมีนัยสำคัญถึง 4.49 เท่าต่อทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐ ที่ลงทุนในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตามการประเมินโดย Environmental Resources Management (ERM) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านความยั่งยืนระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อาทิ การที่นักการศึกษา 338 คน รายงานว่า Waste Hero ช่วยส่งเสริมการคัดแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ นักการศึกษา 284 คน ยังเห็นพ้องกันว่า โครงการ Waste Hero ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์การศึกษา และลดการใช้เวลาของครู อีกทั้งโรงเรียน 296 แห่ง รายงานว่าโครงการดังกล่าวยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมครูและการเข้าร่วมงานสัมมนาทางออนไลน์อีกด้วย

.

โครงการ Waste Hero ได้สร้างการตระหนักรู้และปลูกฝังแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับนักการศึกษาจำนวน 6,677 คน และนักเรียนจำนวน 274,664 คน ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ของมูลนิธิยูนูส ประเทศไทย และเครือข่ายของมูลนิธิฯ นอกจากนี้ โครงการยังได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของ SEAMEO SEPS ที่ครอบคลุมโรงเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 1,000 แห่ง โดยสามารถเข้าถึงครูจำนวน 586 คน และนักเรียนจำนวน 138,392 คน เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการจัดการขยะและการดูแลสิ่งแวดล้อม

.

นางสุจิตรา โลเฮีย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าว

นางสุจิตรา โลเฮีย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "ความสำเร็จของโครงการ Waste Hero ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างคุณค่าทางสังคม สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของเรา ความร่วมมือระหว่างเรากับ SEAMEO SEPS เกิดผลกระทบที่น่าประทับใจของโครงการในการส่งเสริมชุมชนทั่วอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อการจัดการขยะและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน"

.

นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ หรือ SEAMEO SEPS กล่าวว่า "SEAMEO SEPS มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ทรัพยากรการสอน Waste Hero ไปยังเครือข่ายโรงเรียนทุกแห่งในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการริเริ่มนี้สอดคล้องกับพันธกิจของ SEAMEO SEPS ตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังค่านิยม และเป็นแนวทางกระบวนการตัดสินใจเพื่อจัดการกับความท้าทายในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก ความร่วมมือกับอินโดรามา เวนเจอร์ส และมูลนิธิยูนูส ประเทศไทย นี้สร้างโอกาสในการส่งเสริมการรีไซเคิล การสร้างของเสียให้เหลือศูนย์ และแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ในหมู่เยาวชนทั่วภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการเป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบ และมีส่วนช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืน"

.

นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ หรือ SEAMEO SEPS

การวัดผลกระทบทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment - SROI) เป็นวิธีการที่ใช้ในการประเมินผลของโครงการ CSR ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงการได้รับการออกแบบและพัฒนาอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนทางสังคมและชุมชนสูงสุด ในขณะที่ใช้เงินทุนและทรัพยากรของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการประเมินผลของ SROI เกี่ยวข้องกับการกำหนดกิจกรรมหลักและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การดำเนินการสำรวจและการสัมภาษณ์เชิงลึก การพัฒนาการวิเคราะห์ผลกระทบห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการใช้ข้อมูลทุติยภูมิและการกำหนดค่าตัวแทนทางการเงินเพื่อให้ทราบถึงมูลค่าทางการเงินต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนั้นๆ อย่างชัดเจน

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000027556