โปรตีนจากแมลงและพืชได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยปัจจัยพื้นที่การผลิตอาหารของโลกที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการอาหารมีปริมาณมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงให้การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแมลงบริโภคได้ เพื่อประโยชน์ทางการค้าด้วย เทคโนโลยีการเลี้ยงจิ้งหรีดหนึ่งในเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ วว. นำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี ที่จะมุ่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มทางเลือกอาหารเพื่อสุขภาพให้ผู้บริโภค สร้างความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการสู่ระดับสากลโดยได้พัฒนาและวิจัยแมลงที่เป็นแหล่งโปรตีน พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “อาหารสุขภาพอุดมโปรตีนจากจิ้งหรีด” สู่เชิงพาณิชย์ ชี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต มีปริมาณโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ ผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านอาหารตามมาตรฐานสากล
.
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) และพืช (Plant-based Protein) ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยปัจจัยพื้นที่การผลิตอาหารของโลกที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการอาหารมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากประชากรโลกมีอายุยืนขึ้น ส่งผลให้นวัตกรรมด้านอาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ดังนั้น วว. จึงมุ่งนำเทรนด์อาหารแห่งอนาคตมาเป็นแนวทางดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยนำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ให้หลากหลายมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างครบวงจร รวมทั้งสามารถบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตได้มากขึ้น เนื่องจากกระบวนการผลิตแมลงจะใช้พื้นที่น้อย แมลงต้องการอาหารน้อยกว่าในการเจริญเติบโต และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตสัตว์ประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้จากการดำเนินงานของ วว. ตามแนวทางดังกล่าว ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ “อาหารสุขภาพอุดมโปรตีนจากจิ้งหรีด” โดยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ดังนี้
.
เนื้อเทียมจากผงจิ้งหรีด มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 72-76 % ปริมาณไขมันต่ำที่สุด 11-10% มีกรดอะมิโนและกรดไขมันอิ่มตัว ไม่พบสารฮิสตามีน (Histamine : สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของกระบวนการตอบสนองต่อภูมิแพ้) โปรตีนสูงเทียบเท่ากับไข่ไก่ 2 ฟอง ผ่านการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน ปราศจากถั่วเหลืองและแป้ง เก็บได้นาน 1 ปี ที่อุณหภูมิแช่แข็ง (-20 องศาเซลเซียส)
.
ผลิตภัณฑ์โปรตีนแผ่นกรอบจากจิ้งหรีดรสซอสพริกศรีราชา
มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 72-76% ปริมาณไขมันต่ำที่สุด 11-10 % มีกรดอะมีโนและกรดไขมันอิ่มตัว ไม่พบสารฮิสตามีน ปราศจากถั่วเหลือง เก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 6 เดือน
.
ผลิตภัณฑ์เม็ดอัลมอนด์เคลือบโปรตีนจิ้งหรีด มีโปรตีนสูงถึง 72-76 % ปริมาณไขมันต่ำที่สุด 11-10 % มีกรดอะมิโนและกรดไขมันอิ่มตัว ไม่พบสารฮิสตามีน ปราศจากส่วนผสมของสารให้ความหวาน ปราศจากถั่วเหลือง เก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้อง 3 เดือน
.
โปรตีนผงไฮโดรโลเซสจากจิ้งหรีดทองลายพร้อมดื่มรสโกโก้มอลต์/รสเบอร์รี่ ใช้โปรตีนผงไฮโดรโลเซสในรูปแบบน้ำ พัฒนาเป็นเครื่องดื่มเปปไทด์ ผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยกรรมวิธีพาสเจอร์ไรซ์ มีคุณภาพทางจุลินทรีย์เป็นไปตามมาตรฐาน มีปริมาณโปรตีน 2-3 กรัมต่อขวด (55 กรัม) มีโซเดียมเพียง 10-15 มิลลิกรัมต่อขวด
.
โปรตีนผงไฮโดรโลเซสจากจิ้งหรีดทองลาย สกัดด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์ที่สามารถประยุกต์ใช้กับจิ้งหรีดสายพันธุ์อื่นๆ ได้ อุดมด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน และมีกรดอะมิโนกลุ่ม BCAAs (Branched-Chain Amino Acids : กลุ่มของกรดอะมิโน 3 ชนิด ได้แก่ ลิวซีน (Leucine) ไอโซลิวซีน (Isoleucine) และวาลีน (Valine) ที่มีโครงสร้างเรียงตัวเป็นกิ่งก้าน มีประโยชน์ เช่น ช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยลดการสลายของมวลกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ) ผ่านการทดสอบไม่พบสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่มถั่วและสัตว์เปลือกแข็ง (Allergen free : Soy, Crusteceans)
.
ผงชงดื่มจากโปรตีนจิ้งหรีดสกัดรสกาแฟ ใช้สารสกัดโปรตีนไฮโดรไลเซทจากจิ้งหรีด โดยนำไปทำแห้งด้วยเทคโนโลยี Encapsulation ให้เป็นรูปแบบผง สำหรับเป็นผงชงดื่ม มีปริมาณโปรตีนถึง 5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค (ซอง 30 กรัม) สามารถละลายได้ทั้งในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น ดื่มได้ง่าย ไม่มีกลิ่นของจิ้งหรีด
.
นอกจากนี้ วว. โดย สถานีวิจัยลำตะคอง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแมลงบริโภคได้ เพื่อการค้า ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เทคนิคเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารก่อภูมิแพ้และการแปรรูปจิ้งหรีดอย่างง่าย” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ วว. ที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่เป้าหมาย 12 หมู่บ้าน ในจังหวัดต่างๆ อาทิ กาฬสินธุ์ นครพนม อำนาจเจริญ และบุรีรัมย์ โดยมุ่งเน้นกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบปลอดภัย และการแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000043006