แฟ้ม - แม่ช่วยลูกน้อยจับเครื่องช่วยหายใจ ที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลเด็ก ที่นิวเดลี อินเดีย 7 พ.ย. 2023 (Photo by Arun SANKAR / AFP)

เด็กเกือบ 2,000 คนต้องเสียชีวิตทุกวัน เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่อันดับ 2 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกในขณะนี้ อ้างอิงจากรายงานที่เผยแพร่ล่าสุดในวันพุธ

.

การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 8.1 ล้านคน หรือราว 12% ของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก เมื่อปี 2021 ตามรายงานของ Health Effect Institute สถาบันสุขภาพของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า มลพิษทางอากาศได้เอาชนะการสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ขึ้นมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังแค่ภาวะความดันโลหิตสูงที่ยังเป็นแชมป์ปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกอยู่ในตอนนี้

.

ทางสถาบัน Health Effect Institute ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ในการจัดทำรายงาน State of Global Air report ซึ่งตอกย้ำว่าเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศอย่างยิ่ง

.

ผลกระทบที่ไม่จบแค่รุ่นเรา
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ พบว่า มลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มากกว่า 700,000 คน และมากกว่า 500,000 คนในนั้น มาจากสาเหตุของการทำอาหารภายในบ้านด้วยการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาด เช่น ถ่านหิน ไม้ ที่ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและเอเชีย

.

คิตตี แวน เดอร์ ไฮจ์เดน จากองค์การยูนิเซฟ ระบุในแถลงการณ์ว่า “ทุก ๆ วันเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 2,000 คนต้องเสียชีวิต เพราะผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ” และว่า “การไม่ลงมือทำอะไรเลยได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งกับคนรุ่นต่อไปแล้ว”

.

ในรายงานฉบับนี้ยังพบว่า เกือบทุกคนบนโลกสูดอากาศที่มีระดับมลพิษเข้าขั้นไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเกือบทุกวัน โดยกว่า 90% ของการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ มากมาย

.

ในรายงานการศึกษานี้ มุ่งเน้นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ กับระดับมลพิษทางอากาศ ที่แม้ว่าจะมีตัวเลขที่น่าตกใจออกมา แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ารายงานนี้อาจจะประเมินผลกระทบของมลพิษทางอากาศไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่ได้พิจารณาว่ามลพิษทางอากาศอาจกระทบต่อสุขภาพสมอง และความเสื่อมของระบบประสาท หรือผลกระทบของการใช้พลังงานแข็งในการทำความร้อนว่าส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์มากน้อยแค่ไหน

.

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การจัดการเรื่องการทำอาหารในพื้นที่อาคารปิด ที่ควรเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อก๊าซเรือนกระจกหรือมีการเผาไหม้ที่ไม่สะอาดในการปรุงอาหาร จากที่พบว่ามีผู้คนมากกว่า 2,000 ล้านคนที่ยังใช้เตาถ่านหรือก่อไฟทำอาหารนอกบ้าน ซึ่งเพิ่มโอกาสการสูดดมควันพิษเข้าไปในช่วงเวลาปรุงอาหารได้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงเครื่องครัวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากมีหลักฐานที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็ก เนื่องจากมลพิษทางอากาศลดลงกว่า 50% นับตั้งแต่ปี 2000 เพราะปัจจัยดังกล่าว

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/report-air-pollution-linked-to-nearly-2-000-child-deaths-a-day/7662187.html