นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงวอชิงตันรายนี้ เดินกางร่ม ท่ามกลางสภาพอากาศที่รุนแรงจากคลื่นความร้อน เมื่อ 19 มิ.ย. 2567

ในช่วงที่อุณหภูมิและความชื้นพุ่งสูงในหลายพื้นที่ทั่วโลก สิ่งที่หลายคนควรสังเกตและระวังไว้ให้ดีขึ้น ผลกระทบของสภาพอากาศที่ว่าต่อร่างการของเราที่อาจหมายถึงความเป็น/ความตาย เพียงเพราะอุณหภูมิที่ปรับขึ้นเพียงไม่กี่องศาเท่านั้น ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

.

นักวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่ว่านี้กล่าวว่า ในความจริง จุดที่เป็นอันตรายที่อาจทำให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากความร้อนไม่หยุดหย่อนนั้นไม่ได้สูงเหมือนกับที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญเคยคาดไว้เลย

.

เพราะฉะนั้น ในสภาพอากาศร้อนระอุในช่วงนี้ โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ เม็กซิโก อินเดียและตะวันออกกลาง ซึ่งมีพยากรณ์ว่าจะเกิดคลื่นความร้อนที่ร้ายแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยฝีมือมนุษย์ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงนำเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ร่างกายคนเราเผชิญในภาวะร้อนจัด ดังนี้

.

อุณหภูมิในร่างกาย
โดยปกติ อุณหภูมิในร่างกายคนอยู่ที่ราว 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์)

.

แต่ โอลลี เจย์ ศาสตราจารย์ด้านความร้อนและสุขภาพจาก มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ในออสเตรเลีย เตือนระดับดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตรายจากภาวะโรคลมแดดเพียง 4 องศาเซลเซียส หรือ 7 องศาฟาเรนไฮต์เท่านั้น

.

นายแพทย์นีล คานธี ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ฉุกเฉินแห่งโรงพยาบาลกลางเมธอดิสต์ฮิวส์ตัน (Houston Methodist Hospital) อธิบายว่า ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนนั้น ใครก็ตามที่มีไข้สูงถึงระดับ 102 องศาฟาเรนไฮต์ หรือสูงกว่านั้น โดยไม่มีตัวบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อใด ๆ จะถูกวินิจฉัยตรวจว่า มีภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (heat exhaustion) เพราะการสูญเสียน้ำและโซเดียม หรืออาจเป็นโรคลมแดดขั้นรุนแรงหรือไม่

.

ความร้อนทำให้เสียชีวิตอย่างไร
ศาสตราจารย์เจย์ กล่าวว่า ความร้อนส่งผลให้คนเสียชีวิตได้ 3 วิธี โดยวิธีแรกคือ อาการโรคลมแดดที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างการเพิ่มขึ้นรุนแรงจนอวัยวะภายในล้มเหลว

.

แฟ้มภาพ - สตรีคนหนึ่งราดน้ำลงบนศีรษะในวันอากาศร้อน ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ 21 พ.ค. 2567

อีกวิธีหนึ่งคือ แรงกดดันที่หัวใจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงมากสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะเสี่ยงนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อลดความร้อน แต่สถานการณ์เช่นนั้นทำให้ความดันโลหิตตกลง ซึ่งจะทำให้หัวใจเร่งสูบฉีดเลือดออกมากมากขึ้นเพื่อไม่ให้หมดสติ

.

ศาสตราจารย์เจย์ อธิบายว่า สภาพการณ์ที่ว่าหมายถึงการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่หัวใจอยู่แล้ว

.

ส่วนวิธีที่ 3 คือ ภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเกิดขึ้นเมื่อเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากจนทำให้ไตทำงานหนักรุนแรง

.

นายแพทย์นีล คานธี กล่าวว่า คนจำนวนมากไม่ได้คิดว่า สถานการณ์ที่ว่านี้เป็นอันตรายเลย ขณะที่ แพทย์หญิงเรเน ซัลลาส จากโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) บอกว่า ในความเป็นจริง การขาดน้ำอาจนำไปสู่ภาวะช็อก ทำให้อวัยวะหยุดทำงานเพราะร่างกายขาดเลือด ออกซิเจนและสารอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้

.

ความเสียหายที่สมอง
แพทย์หลายรายให้ความเห็นว่า ความร้อนยังทำอันตรายต่อสมองได้ด้วย เพราะทำให้คนเราสับสน คิดอะไรไม่ออก

.

ศาสตราจารย์คริส เอบิ จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน (University of Washington) อธิบายว่า อาการแรก ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับภาวะความร้อนสูงก็คือ อาการงง ๆ หลง ๆ แต่หลายคนมักไม่สังเกต ขณะที่ เรื่องนี้ดูเป็นปัญหาใหญ่เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

.

ส่วนศาสตราจารย์ ดับเบิลยู แลร์รี เคนนีย์ จาก มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) กล่าวว่า คำจำกัดความแบบง่าย ๆ ของโรคลมแดดก็คือ การที่อุณหภูมิภายในร่างการ (core body temperature) อยู่ที่ 104 องศาฟาเรนไฮต์ (40 องศาเซลเซียส) “พร้อม ๆ กับการที่สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้หรือการจำ”

.

ความชื้นก็มีความสำคัญ
ศาสตราจารย์ ดับเบิลยู แลร์รี เคนนีย์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์บางรายใช้ระบบการวัดอุณหภูมิภายนอกอาคารที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ (Wet Bulb Globe Temperature : WBGT) ที่คิดคำนวณระดับความชื้น การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และลมด้วย โดยในอดีต มีการประเมินว่า ค่า WBGT ที่ 95 องศาฟาเรนไฮต์ (35 องศาเซลเซียส) คือ จุดที่ร่างกายคนเราเริ่มจะมีปัญหาแล้ว

.

แต่ศาสตราจารย์ผู้นี้ทำการทดลองเองแล้วพบว่า ค่า WBGT ที่เป็นอันตรายนั้นอยู่ที่เกือบ ๆ 87 องศาฟาเรนไฮต์ (30.5 องศาเซลเซียส) โดยเริ่มมีรายงานการพบค่านี้ในแถบตะวันออกกลางบ้างแล้ว โดยเป็นกรณีของคนหนุ่มสาว แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้น ค่าดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 82 องศาฟาเรนไฮต์ (28 องศาเซลเซียส) เท่านั้น

.

ศาสตราจารย์เคนนีย์ จึงสรุปว่า คลื่นความร้อนที่มาพร้อมกับความชื้นทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าคลื่นความร้อนแบบแห้ง”

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/how-does-heat-kill-it-confuses-your-brain-it-shuts-down-your-organs-it-overworks-your-heart/7665697.html