เพื่อตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีและความอยู่ดีมีสุขตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development การขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมด้านการแพทย์ให้เกิดขึ้นและนำมาใช้ได้จริง จึงมีความสำคัญและน่าสนใจ และเมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน Medlab Asia & Asia Health 2024 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และความเคลื่อนไหวด้านการแพทย์ ผ่านหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ โดยส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือการนำเสนอนวัตกรรมด้านการแพทย์ ซึ่งประเทศโปแลนด์หนึ่งในผู้นำด้านอุปกรณ์การแพทย์มีการจัดพาวิลเลี่ยน โดยมี 3 ตัวอย่างนวัตกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบใกล้ตัว ได้แก่ นวัตกรรมจากเทคโนโลยีไมโครเวฟ นวัตกรรมการแพทย์ทางไกล และนวัตกรรมวัสดุชีวภาพทดแทนกระดูกจริง

.

๐ นวัตกรรมการตรวจร่างกาย 9 จุดสำคัญ
สนับสนุนการแพทย์ทางไกล

ไฮโกเซ้นส์ (Higosense) เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยนำความรู้และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยมีความลำบากในการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องใช้เวลานานในการนัดพบแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก และพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากถึง 60% ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องตรวจนี้ได้เองที่บ้าน แล้วส่งข้อมูลที่ได้ไปเก็บไว้ในแอพพลิเคชั่นที่แพทย์จะนำไปวินิจฉัยต่อไป

.

จากประโยชน์ของอุปกรณ์นี้ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของโปแลนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ โดยได้คิดค้นและทำงานร่วมกับแพทย์และนักวิจัยจำนวนมากทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ซึ่งข้อดีของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ที่เรียกว่า “Higo Homedical Care” คือมีการออกแบบอย่างเหมาะสม ใช้งานง่าย มีความสะดวกอย่างมาก ไม่ว่าใครและอยู่ที่ใดก็สามารถใช้ได้ทั่วโลก

.

อุปกรณ์นี้สามารถใช้ตรวจวัดร่างกายได้ 9 จุด ได้แก่ 1. Heart rate (วัดอัตราการเต้นของหัวใจ) 2. Auscultation of heart (วัดการทำงานของหัวใจ) 3. Auscultation of lungs (วัดการทำงานของปอด) 4. Auscultation of abdomen (วัดการทำงานของกระเพาะ) ด้วยการใช้ Stethoscope module 5. Imaging of the throat (ตรวจสุขภาพภายในลำคอ) ด้วย Throat Imaging module with tongue depressor 6.Imaging ear exam (ตรวจสุขภาพภายในหู) ด้วย Otoscope module 7. Temperature measurement (วัดอุณหภูมิของร่างกาย) ด้วย Thermometer module และ8. Imaging skin exam (ตรวจผิวหนัง) ด้วย Skin Imaging module with dermhood 9. Registration of cough and breath (การตรวจลมหายใจและการไอ)

.

การตรวจวัดทั้งหมดดังกล่าวนี้ ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีการบันทึกไว้ทั้งในรูปแบบตัวเลข เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว และสามารถส่งผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เหมือนเป็นการดูแลสุขภาพทางไกล ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาอุปกรณ์นี้ขึ้นมาก็เพื่อใช้ตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อลดการไปพบแพทย์ในครั้งแรก และอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์

.

อุปกรณ์นี้ได้รับการพัฒนาก่อนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และสามารถนำออกมาใช้ได้จริง เมื่อประมาณ 2 ที่ผ่านมา โดยมีการใช้ในประเทศต่างๆ ทั้งโดยภาครัฐหรือเอกชน เช่น ในซาอุดิอาราเบีย สหรัฐอาหรับฯ และอาฟริกาใต้ รวมทั้งในเยอรมนี ซึ่งมีการนำไปใช้ในคลินิคหรือสถานพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ หรือไม่มีแพทย์อยู่ประจำ รวมถึงบ้านพักคนชราของรัฐที่มีมากถึง 7,000 หลัง จึงเป็นการช่วยภาครัฐประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยได้ทางหนึ่ง

.

๐ นวัตกรรมจากเทคโนโลยีไมโครเวฟ
เพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด

เนื่องด้วย MediSeneonic เป็นการรวมตัวของนักวิจัยที่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะผู้บริหารสูงสุดด้านเทคโนโลยีหรือ Chief Technology Officer มีความเชี่ยวชาญด้านไมโครเวฟ จึงคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีด้านไมโครเวฟเป็นหลัก นอกจากนี้ คอนเซ็ปต์หลักในการพัฒนานวัตกรรมยึดหลักความต้องการให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด สุขสบายที่สุด จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าว ทั้งยังต้องการนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือครั้งแรกในโลก โดยในวันนี้ได้นำ 4 นวัตกรรมมานำเสนอ ดังนี้

.

Glucowave อุปกรณ์การวัดน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องผ่านการใช้เข็มเจาะ เป็นเครื่องแรกของโลกที่สามารถนำไปพันไว้รอบบริเวณต้นแขนก็จะตรวจวัดค่าได้ โดยใช้คลื่นไมโครเวฟที่มีอยู่ในร่างกายของคนเป็นตัวส่งสัญญาณ อุปกรณ์นี้ผ่านการทดสอบทางคลินิกแล้ว Touchwave อุปกรณ์ที่ใช้วัดความดันโลหิต และ Microwave Pulse อุปกรณ์วัดชีพจร โดยทั้ง 3 นวัตกรรมใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟ

.

ส่วนอีกนวัตกรรมเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับภาพ หรือ Photo optic ที่นำมาใช้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจสุขภาพรากฟันที่ใช้งานได้สะดวกด้วยการนำเข้าไปในปากจะได้ภาพเอ๊กซเรย์ออกมาได้ง่ายๆ เห็นภาพได้ทั้งหมด แทนการใช้อุปกรณ์แบบเดิมซึ่งต้องเอ๊กซเรย์ทีละด้าน

.

นวัตกรรมทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนของสินค้าต้นแบบที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมีการจดสิทธิบัตรแล้ว ขณะนี้กำลังต้องการพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเปิดรับหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ หรือผู้ที่ต้องการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนด้านการแข่งขันแม้จะมีนวัตกรรมอื่นๆ ที่คิดค้นมาเพื่อนำมาใช้งานเช่นเดียวกัน แต่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถผลิตใช้ได้จริงภายในปลายปีหน้า

.

๐ นวัตกรรมจากวัสดุชีวภาพ
ทดแทนกระดูกจริง ปลอดภัย-ฟื้นตัวเร็ว

เมดิคัล อินเวนติ (Medical Inventi) ซึ่งก่อตั้งมาจากนักวิจัยและแพทย์ในเมืองลูบลินของโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์ ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมวัสดุชีวภาพทดแทนการใช้กระดูกจริง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า FlexiOss FlexiDent และ FlexiVet เพื่อใช้ในการรักษา 3 ส่วนแตกต่างกัน ได้แก่ ส่วนที่เป็นกระดูก กะโหลกศีรษะ และข้อต่างๆ ส่วนที่เป็นฟัน และส่วนที่เป็นกระดูกของสัตว์ต่างๆ เช่น ม้า ฯลฯ

.

บริษัทฯ เป็นที่ยอมรับอย่างมาก โดยได้รับรางวัลต่างๆ ด้านนวัตกรรมการแพทย์และ ESG กว่า 10 รางวัล ทั้งจากโปแลนด์ และล่าสุดในปีนี้ ได้รับรางวัล Top Bio Material Processing Company จากยุโรป ด้วยการพัฒนาวัสดุทดแทนกระดูกที่มีความโดดเด่นมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องความยืดหยุ่นทำให้สามารถปรับรูปทรงได้ตามต้องการ เมื่อนำไปใช้กับการผ่าตัดรักษากระดูก เพราะโดยทั่วไปหรือในการรักษาแบบเดิมเป็นการใช้ Hydroxyapatite แบบแข็ง หรือนำกระดูกจริงมาใช้ รวมทั้งมีความปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมของกระดูกมนุษย์และสัตว์ ไม่ต้องกังวลจากการติดเชื้อซึ่งเป็นความเสี่ยงในการใช้กระดูกจริง และยังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว

.

นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มพัฒนามาประมาณ 10 ปีที่แล้ว จนกระทั่งนำมาใช้งานจริงในยุโรปเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ ฯลฯ จากนั้นจึงนำมาเผยแพร่ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญกับประเทศไทยเพราะมองว่ามีเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ ส่วนขั้นตอนการรับรองตามกฎหมายของประเทศไทย คาดว่าจะดำเนินการได้อย่างราบรื่น และสามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้ในอีกไม่นาน

.

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้จัดงาน Medlab Asia และ Asia Health 2024 กล่าวว่า “ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2023 เนื่องจากความต้องการในการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของโรงพยาบาลและสถานพยาบาล รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุและการตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในไทยเติบโต นอกจากนี้ การสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ การเปิดตัวเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ ล้วนเป็นสิ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมห้องปฎิบัติการทางการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์เติบโตขึ้น”

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000059920