ขยะกำพร้า : ขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ ต่ออายุให้เกิดคุณค่าได้ ด้วยสองทางเลือกลดขยะต้นทาง หนึ่งแบบสีเขียวอ่อน เดินตามนโยบาย “ไม่เทรวม” ของกทม. เพียงแค่คัดแยกขยะเป็นสองถัง เปียก-แห้ง สองแบบสีเขียวเข้ม คัดแยกต่อจากถังแห้งแล้วส่งไปสู่ 3 เส้นทางเพิ่มคุณค่า นักวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำ หนุนออกกม.ตามรอยอียู โดยใช้หลัก EPR หรือการขยายความรับผิดชอบกับผู้ผลิตสินค้า

.

เนื่องจาก “ขยะกำพร้า” เป็นขยะที่ไม่มีใครเอา เพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือทำได้แต่ไม่คุ้มค่า ซึ่งแม้แต่ซาเล้งเองก็ไม่รับซื้อ จึงกลายเป็นขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะกลางทาง” หรือการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ นั่นทำให้ปลายทางของขยะส่วนใหญ่จบที่หลุมฝังกลบ และตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่นขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี

.

จากการศึกษาองค์ประกอบขยะมูลฝอยทั่วประเทศ เมื่อปี 2564 ของกองการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ขยะกำพร้ามีมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด เฉพาะในกรุงเทพฯ มีขยะเกิดขึ้นกว่าวันละ 10,000 ตัน มีองค์ประกอบเป็นพลาสติก และกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลถึงร้อยละ 21.7 ของน้ำหนัก

.

ปรับเปลี่ยนเป็นคนรักษ์โลก ในช่วงเริ่มต้น ทำง่ายๆ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เทรวม

กทม.ปูฐาน ชวนเริ่มต้นง่ายๆ คัดแยกทิ้งขยะสองถัง เปียก-แห้ง

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเรื่องการคัดแยกขยะของกทม. ว่า “โดยหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 ข้อความที่ต้องการสื่อสาร 1) แยกขยะเป็นเรื่องง่าย ขอแยกแค่ 2 ประเภท : เปียก กับ แห้ง และ 2) ถ้าแยกขยะแล้วต้องไม่เทรวม เนื่องจากขยะทุกชิ้นมีทางไป หนีบ่อฝังกลบ"

.

สิ่งที่กทม.ช่วยสนับสนุนคือการสร้าง ecosystem ที่สะดวกสำหรับการแยกขยะ ทลายความเชื่อว่า "ถ้าแยกแล้วก็เทรวมอยู่ดี" ทุกวันนี้ รถขยะของกทม.พอท่านคัดแยกเป็นขยะ 2 ส่วน ขยะแห้งและเปียก เรามีที่ไปต่อ หรือให้ท่านช่วยคัดแยกต่อ แล้วเลือกทางไป อย่างขยะแห้ง มี 3 ทางไปต่อ

.

1. ภาคีมารับซื้อถึงบ้าน
WASTE BUY Delivery รถสะดวกซื้อ มีบริการรับซื้อทุกพื้นที่ในกทม. มีปริมาณขั้นต่ำ 100 กิโลกรัมต่อ 1 แหล่งกำเนิด โดยสามารถโทรแจ้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 วัน ซึ่งขยะที่รับนั้นรวมหลายประเภทได้ และยังรับ RDF ได้ด้วย

.

Recycoex สามารถเรียกไปรับขยะผ่าน application ได้โดยจะต้องมีปริมาณเต็มรถกระบะ 1 คัน (100-300 กก.) และสามารถไปเก็บเดือนละครั้ง พร้อมกับยังสามารถซื้อถุงนมโรงเรียนได้เช่นกัน

.

Wake Up Waste มีบริการรับซื้อขยะในพื้นที่กรุงเทพฯโดยเริ่มจากการนัดหมายไปสำรวจพื้นที่และนัดหมายเวลาจัดเก็บ ซึ่งเงื่อนไขต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 250 กิโลกรัม

.

รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand พร้อมเข้าไปรับซื้อผ่านการจองใน application ซึ่งสมาชิกจะได้รับคะแนนและสามารถนำคะแนนไปแลกของรางวัลต่างๆได้ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการรับซื้อเศษอาหารด้วยซึ่งประชาชนสามารถเช่าถังใส่เศษอาหาร นอกเหนือจากนั้นแน่นอนว่ายังมีพี่ซาเล้งที่อยู่ตามพื้นที่อยู่แล้ว

.

2. รับซื้อ/รับบริจาคตามจุด
Trash Lucky เป็นภาคีที่เปิดรับให้ผู้แยกขยะส่งของมาที่จุดรับได้โดยมีการคิดค่าบริการขั้นต่ำขึ้นกับขนาดของพัสดุแต่ถ้าซื้อกล่องของ trash lucky จะฟรีค่ารับส่งขยะ ซึ่งมาส่งแล้วก็รับแต้มสะสม

.

สำหรับขยะกำพร้าที่ไม่ค่อยมีคนรับซื้อ เช่น HDPE (ขวดนม ขวดแชมพู แก้วโยเกิร์ต) LDPE (หลอดโฟมล้างหน้า) PP (กล่องอาหารที่ใส่ไมโครเวฟได้) PS (ช้อนส้อมพลาสติก) สามารถส่งต่อให้ YOLO - Zero Waste Your Life หรือไปส่งที่จุดนัดพบของ N15 Technologyได้

.

3. รับบริจาคจากตามจุด drop off
ปัจจุบันกรุงเทพฯร่วมกับภาคี "มือวิเศษ กรุงเทพฯ" ได้ตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลในทุกสำนักงานเขตและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รับภาชนะเช่น ขวด PET พลาสติกยืด HDPE รวมถึงขยะกำพร้า

.

“จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิลหรือไม่ก็ตาม ขยะที่แยกแล้วมีทางไปหมด ซึ่งเราเชื่อว่าการมี ecosystem ส่งเสริมทางไปของขยะแห้งที่ชัดเจน และมีการสื่อสารที่ชัด จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ประชาชนมองว่าเรื่องแยกขยะเป็นเรื่องง่าย สะดวก และเป็นประโยชน์” นายพรพรหมกล่าว

.

ขยะกำพร้าจากถุงวิบวับ ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก รวมถึงขยะพลาสติกในทะเล เพราะรีไซเคิลยาก ซาเล้งไม่รับซื้อ มันคือถุงอลูมิเนียมฟอยล์ที่ใช้บรรจุสินค้าหลายประเภท เช่น กาแฟ, อาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง, ยา เป็นต้น ซึ่งรวมถึงถุงอาหารหมาและแมว ถุงบรรจุเหล่านี้ทำจากฟิล์มพลาสติกจำพวก Nylon, PET, LLDPE , LLDPE และแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ (Al) เป็นต้น

.

ภาชนะจากอาหารเดลิเวอรี่ มีแนวโน้มตามโลกยุคนี้ เพราะความสะดวกสบาย แต่กลับสร้างขยะกำพร้ามากขึ้น

ปรับเปลี่ยนเป็นคนรักษ์โลก (สีเขียวเข้ม) โดยเรียนรู้ “ขยะกำพร้า” จากภายในบ้าน?

.

ทุกวันนี้ขยะกำพร้าส่วนใหญ่มาจากอาหารเดลิเวอรี่ เช่น ถาดอาหาร, ถุงฟอยล์, ถุงร้อน, ช้อนส้อมพลาสติก หรือเป็นขยะที่ไม่มีทางไป เช่น ซาเล้งก็ไม่รับซื้อ, โรงงานรับซื้อของเก่าไม่ค่อยสนใจ จึงทำให้หลายๆ คนตัดสินใจเทรวม โดยมัดรวมขยะทุกประเภทลงในถุงเดียว นั่นทำให้คนคัดแยกขยะต่อลำบาก เนื่องจากปนเปื้อน

.

ลองมาเรียนรู้ เพียงใช้เวลาแยก ‘ขยะกำพร้า’ ที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน

.

ห้องครัว มองรอบตัวจะพบกับขยะกำพร้าอยู่ เช่น ขวดน้ำอัดลม, กระป๋องน้ำอัดลม, ช้อนส้อมพลาสติก, กล่องพลาสติก, ถุงร้อน, ซองขนม, ซองเครื่องปรุง, แผงไข่, แคปซูลกาแฟ, ฟอยล์ต่าง ๆ, ซองกันชื้น และฟองน้ำล้างจาน

.

ห้องน้ำ เป็นอีกหนึ่งจุดที่รวมตัวเหล่าขยะกำพร้าไว้ เช่น ขวดน้ำยาต่าง ๆ, แปรงสีฟัน, แปรงขัดโถส้วม (ไม่มีลวด), ถุงมือยาง, สบู่เหลือทิ้ง, ไม้ปั่นหู หรือ ไหมขัดฟันเป็นต้น

.

ห้องนั่งเล่นมุมชิล ๆ มุมพักผ่อนก็แอบมีขยะกำพร้าซ่อนอยู่ได้ เช่น รูปถ่ายที่ไม่ต้องการเก็บ, ฟิล์มภาพ, ซองพัสดุ(ตัดฉากพลาสติกออก), กล่องโฟม, โฟมกันกระแทก หรือ แผงยาหมดอายุ เป็นต้น

.

ห้องนอน ห้องแต่งตัวมีขยะกำพร้า เช่น เสื้อผ้าเก่า (ใยสังเคราะห์), ชุดชั้นในชาย, ชุดชั้นในผู้หญิง (เอาโครงเหล็กออก) และ ซิลิโคน เป็นต้น

.

หรือท่านลองมองหาสัญลักษณ์ขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 1-PETE, 2-HDPE, 4-LDPE, 5-PP, 6-PS, 7-O หรือ Other เป็นต้น จาก ขยะกำพร้า ที่ค้นหาเจอในบ้าน ซึ่งก่อนจะส่งต่อไปสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ยังต้องจัดการทำความสะอาดให้ดีที่สุด โดยมีขั้นตอนการทำความสะอาด ขยะกำพร้า ดังนี้ (ดูจากรูปกราฟฟิก)

.

-แกะฉลากพลาสติก หรือนำเศษอาหารให้หมดก่อน
-ล้างให้สะอาด สามารถตัดเพื่อซอง ตัดกล่อง เพื่อล้างภายใน
-ตากให้แห้งสนิท เพื่อลดพลังงานในการเผา
-แยกประเภทขยะให้ชัดเจน เก็บใส่ถุงขยะให้มิดชิด

.

เมื่อแยกประเภท และทำความสะอาดขยะกำพร้าแล้วสามารถส่งต่อไปยังโครงการต่างๆ ดังนี้

.

N15 Technology ส่งต่อขยะกำพร้าไปทำพลังงานทดแทนถ่านหิน ติดตามจุดรับ ขยะกำพร้าสัญจร ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/n15technology/

.

Green Roadส่งต่อขยะกำพร้าไปผลิตเป็นอิฐบล็อก หรือสิ่งก่อสร้าง ติดตามจุดรับ หรือวิธีการส่งขยะกำพร้าได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/greenroad.enterprise/

.

CirPlasส่งต่อขยะกำพร้าไปผลิตเป็น Reusable Material ทำของตกแต่งใหม่ๆ ที่มีมูลค่า ติดตามจุดรับ ขยะกำพร้า ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/cirplas.official/

.

นักวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำ หนุนขับเคลื่อน EPR

Extended Producer Responsibility หรือเรียกสั้นๆว่า EPR คือหลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

.

ปลายปีที่แล้ว ภาครัฐออกมาให้ข้อมูลถึงการเร่งยกร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ...” โดยหนึ่งในสาระสำคัญจะมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Producer Responsibility Organization หรือ PRO) และนำผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของบรรจุภัณฑ์เข้ามาทำงานร่วมกัน ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของ 7 บริษัทชั้นนำที่รวมตัวกันในนามของ “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ “PRO-Thailand Network” นำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ)

.

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์

ภาควิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand – CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า “ประเทศไทยเรียนรู้หลัก EPR มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากการที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้นโยบายด้านการจัดการขยะจากเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE) และทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ศึกษาในระนาบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาร่างกฎหมาย

.

โมเดล EPR ถูกคิดค้นโดยนายโธมัส ชาวสวีเดน เมื่อปี 1992 มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น (Liability) ความรับผิดชอบด้านการเงิน (Financial Responsibility) การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ (Physical Responsibility) และความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูล (Informative Responsibility)

.

“สององค์ประกอบแรกข้างต้น มุ่งให้ผู้ผลิตเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ส่วนองค์ประกอบที่ 3 คือ การจัดตั้งจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสนับสนุนการคัดแยกได้ ส่วนความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่นกัน จากองค์ประกอบของโมเดลนี้ จะเห็นได้ว่าความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและความรับผิดชอบด้านการเงินถือเป็นเสาหลักของการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network โดยได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งจากเดิมตกอยู่กับระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจต้องรับผิดชอบการจัดการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและเกินกำลังที่ทางท้องถิ่นจะรับได้”

.

ส่วนความคืบหน้าข้อกฏหมายด้าน EPR นั้น ขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติต่อไป โดยปกติขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะตราเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้

.

จุดจบของขยะพลาสติกในทะเล ส่วนใหญ่ยังเป็นพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง และมีขยะกำพร้าจำนวนมาก นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย EPR ของประเทศไทย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000062971