กรมควบคุมโรคของไทยยืนยันว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1b (เคลด 1 บี) รายแรกในไทย ซึ่งเป็นผู้เดินทางมาจากแอฟริกา

.

วันนี้ (21 ส.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนด้วยตัวเอง และบอกว่า “การแถลงข่าววันนี้เพื่อสร้างความตระหนักต่อโรค”

.

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่าการแถลงข่าววันนี้ไม่ได้เป็นการยืนยันว่า มีการพบผู้ป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 1b แต่ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในข่าย “เป็นผู้ป่วยสงสัย” ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องการแจ้งให้สาธารณชนทราบเพื่อความโปร่งใส

.

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation --WHO) ได้ประกาศว่า การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์ (Mpox) สายพันธุ์ clade 1 หรือ ชื่อเดิมคือ “ฝีดาษลิง” (monkeypox) ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ซึ่งขณะนี้กลายเป็นความน่ากังวลสำหรับนานาชาติ

.

ปัจจุบัน โรคติดต่อร้ายแรงชนิดนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 450 ราย ในช่วงแรกของการระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และกำลังแพร่กระจายไปยังบางส่วนของแอฟริกากลางและตะวันออก และนักวิทยาศาสตร์กังวลต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์ใหม่ของโรคนี้ และอัตราการเสียชีวิตที่สูงจากโรคนี้ด้วย

.

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ศักยภาพในการแพร่ระบาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นภายในแอฟริกาและนอกทวีป “มีความน่ากังวลมาก”

.

ผู้ป่วยสงสัยรายแรกในไทย
รายละเอียดเบื้องต้นจากการแถลงของอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวยุโรป เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ในช่วงเวลาประมาณหกโมงเย็น และมีประวัติว่าเดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งกำลังมีการระบาดของโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ 1b โดยระหว่างเดินทางได้ไปต่อเที่ยวบินที่ประเทศหนึ่งในแถบตะวันออกกลางด้วย

.

จากนั้นในวันที่ 15 ส.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีปุ่มขึ้นตามร่างกายเล็กน้อย จึงเดินทางไปยังโรงพยาบาล ซึ่งจากการซักประวัติทำให้ทางโรงพยาบาลสงสัยว่า อาจเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง จึงตรวจว่าเป็นโรคฝีดาษลิง ไทป์ 2 หรือสายพันธุ์ Clade 2 หรือไม่ ซึ่งได้ผลลบในเวลาต่อมา แต่เมื่อตรวจกับสายพันธุ์ 1b กลับได้ผลไม่ชัดเจน

.

แต่เพื่อความแน่ใจว่าเป็นโรคฝีดาษลิงหรือไม่ ทางโรงพยาบาลจึงใช้วิธีการตรวจด้วยยีนแบบ RT-PCR ซึ่งผลออกมาว่าผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงแน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจเพิ่มเติมต่อโดยการไล่ลำดับยีนเพื่อหาดูว่าเป็นสายพันธุ์ใดกันแน่

.

“แม้ตอนนี้ยังไม่ 100%” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว “แต่เป็นฝีดาษวานรแน่ และมาจากประเทศที่มีการระบาดของฝีดาษวานร Clade 1b”

.

เบื้องต้นไม่พบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คาดว่าจะยืนยันสายพันธุ์ของโรคได้ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และหากผลออกมายืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ 1b ก็จะเป็นการยืนยันว่าพบผู้ป่วยจากสายพันธุ์นี้รายแรกในไทย

.

นพ.ธงชัย ยืนยันว่าทางกรมควบคุมโรคมีระบบติดตามผู้สัมผัส รวมถึงติดตามผู้ที่นั่งบนเครื่องบินใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะ 2 แถว รวม 43 คนได้หมด เพื่อสอบสวนโรคต่อ และติดตามอาการระยะเวลา 21 วัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องกักตัว แต่ต้องไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ

.

“จะเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้มีระยะเวลาสัมผัสกับคนอื่น ๆ สั้นมากเมื่อลงจากเครื่องบิน” อธิบดีกรมควบคุมโรคบอก เพราะผู้ป่วยลงจากเครื่องบินประมาณ 18.30 น. และวันรุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์ทันที

.

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมาแล้วก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยจากสายพันธุ์ 2 หรือ Clade 2 ราว 800 คน ในไทย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมากกว่า 140 คน ที่พบเมื่อช่วงต้นปี 2567

.

“แต่เนื่องจากทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ฝีดาษวานรสายพันธุ์ 1b เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ก็อาจมีผลกระทบได้ นี่จึงเป็นการตอบสนองของประเทศไทยต่อสิ่งที่ WHO ประกาศไว้” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ พร้อมกับยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้แพร่กระจายง่ายเหมือนกับโรคโควิด-19

.

สำหรับโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ 2 ที่พบในไทยจนถึงตอนนี้ นพ.ธงชัย บอกว่าสาเหตุมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้เสียชีวิตมักมีเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่โดยปกติแล้วโรคนี้สามารถหายได้เอง ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต

.

ซามูเอล-โรเจอร์ คัมบา รัฐมนตรีสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศประมาณ 15,664 ราย และเสียชีวิต 548 รายตั้งแต่ต้นปี

.

โรคเอ็มพอกซ์ หรือเดิมคือ ฝีดาษลิง พบบ่อยแค่ไหน
โรคเอ็มพอกซ์ เกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (smallpox) แต่เชื้อไวรัสไข้ทรพิษ มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก ในตอนแรกไวรัสนี้ถูกแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน แต่ปัจจุบันยังสามารถแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้เช่นกัน

.

โรคนี้พบได้มากที่สุดในพื้นที่ห่างไกลในป่าดิบชื้นของแอฟริกา ในประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

.

ในภูมิภาคเหล่านี้ มีผู้ป่วยหลายพันรายและมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนจากโรคนี้ทุกปี โดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

.

เอ็มพ็อกซ์เดิมรู้จักกันในชื่อฝีดาษลิง แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ Clade 1 และ Clade 2

.

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสำหรับโรคเอ็มพอกซ์ครั้งที่แล้วเกิดขึ้นเมื่อปี 2022 เกิดจากประเภท Clade 2 ซึ่งค่อนข้างมีความรุนแรงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นการระบาดที่เกิดจาก Clade 1 ที่มีความรุนแรงมากกว่า และคร่าชีวิตถึง 10% ของตัวเลขผู้ป่วยจากการระบาดครั้งก่อน มันยังระบาดอย่างรวดเร็วด้วย

.

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในไวรัสเมื่อประมาณเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว การกลายพันธุ์นำไปสู่การเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Clade 1b ซึ่งได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นมา สายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการระบุโดยนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งว่าเป็น "สายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดจนถึงขณะนี้"

.

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC) ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์นี้มากกว่า 14,500 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 450 รายจากโรคนี้ระหว่างต้นปี 2024 ถึงสิ้นเดือน ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 160% ในการติดเชื้อและเพิ่มขึ้น 19% ในการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023

.

แม้ว่า 96% ของผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่โรคนี้ได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งปกติแล้วไม่พบโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น

.

ตอนที่สายพันธุ์ที่เบากว่าของโรคเอ็มพอกซ์ ที่เรียกว่า “Clade II” ซึ่งมีอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2022 โรคนี้แพร่กระจายไปยังเกือบ 100 ประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปและเอเชียซึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วไม่พบไวรัสนี้ แต่ได้รับการควบคุมโดยการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยง

.

ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การเข้าถึงวัคซีนและการรักษาโรคเอ็มพอกซ์มีจำกัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรค

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4gqzrk447po