ลี ฮา-ยอน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้ เตรียมกิมจิที่ Kimchi Culture Institute เกาหลีใต้ 21 ส.ค. 2024 (REUTERS/Kim Soo-hyeon)

เมนูดังแห่งเกาหลีใต้ ‘กิมจิ’ กลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ หลังจากนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และผู้ผลิตต่างเผยว่า คุณภาพและปริมาณของผักกาดขาว อันเป็นวัตถุดิบสำคัญของเมนูหมักดองอุดมด้วยโปรไบโอติกนี้ กำลังได้รับผลกระทบหนักจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

.

ตามธรรมชาติแล้ว ผักกาดขาวเติบโตในอุณหภูมิที่เย็น และมักจะปลูกตามภูมิภาคที่เป็นภูเขาที่สภาพอากาศคือหัวใจสำคัญในการปลูกพืชชนิดนี้ในช่วงหน้าร้อน ที่อุณหภูมิแทบจะไม่สูงเกินระดับ 25 องศาเซลเซียสในพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว

.

การศึกษาหลายฉบับชี้ว่า อากาศที่อุ่นขึ้นจากภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามพืชพันธุ์ชนิดนี้มากขึ้นจนถึงขนาดที่เกาหลีใต้อาจไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้อีกต่อไปเนื่องจากอากาศร้อนจัด

.

ลี ยัง-กยู นักพยาธิวิทยาและนักไวรัสวิทยาเกี่ยวกับพืช เผยกับรอยเตอร์ว่า “เราหวังว่าการคาดการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น” และว่า “ผักกาดขาวชอบขึ้นในสภาพอากาศเย็นและปรับตัวกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก” โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่ที่ 18-21 องศาเซลเซียส

.

ทั้งนี้ เมนูกิมจิ ที่ทำจากผักชนิดต่าง ๆ อาทิ หัวไชเท้า แตงกวา และต้นหอม แต่เมนูยอดนิยมนั้นคือกิมจิที่ทำจากผักกาด และเกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว

.

ลี ฮา-ยอน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้ กล่าวว่า ผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อผักชนิดนี้ คือ หากแกนของผักกาดเสียไป รากก็จะเละไปด้วย และว่า “หากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในหน้าร้อนเราอาจต้องเลิกปลูกกิมจิ”

.

ข้อมูลจากรัฐบาลโสมขาว เผยว่า พื้นที่ปลูกผักกาดขาวบนพื้นที่ราบสูงเมื่อปีก่อน ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับที่ปลูกได้เมื่อ 20 ปีก่อน คือจากพื้นที่ 3,995 เฮกตาร์ จากที่เคยปลูกได้ในพื้นที่ 8,796 เฮกตาร์ และคาดว่าผลจากภาวะโลกร้อนจะทำให้พื้นที่การเกษตรลดลงอย่างมากในอีก 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ และจะไม่สามารถปลูกผักกาดขาวได้เลยภายในปี 2090

.

ขณะที่ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีใต้ เมื่อวันจันทร์ เผยว่า ยอดนำเข้ากิมจิในช่วงถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 6.9% ที่มูลค่า 98.5 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากจีน

.

ในตอนนี้ รัฐบาลหันมาพึ่งพาผลผลิตผักกาดขาวที่เก็บไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนและราคาผักพุ่งสูง และนักวิทยาศาสตร์เร่งพัฒนาผักกาดที่สามารถปลูกภายใต้อากาศที่ร้อนขึ้นและทนต่อสภาพอากาศแปรปรวนได้

.

แต่ในสายตาของเกษตรอย่าง คิม ซิ-กับ วัย 71 ปี ที่ทำงานในสวนผักกาดทางตะวันออกของประเทศมาทั้งชีวิต บอกว่าพืชพันธุ์ทางเลือกเหล่านั้นอาจมีต้นทุนที่แพงขึ้นในการปลูกและอาจมีรสชาติที่ไม่ถูกปาก และว่าตนรู้สึกช็อกและเศร้าใจกับข่าวนี้ เพราะ “กิมจิเป็นของที่ต้องมีบนโต๊ะอาหาร” ของคนเกาหลี

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/climate-change-puts-south-korea-s-beloved-cabbage-dish-at-risk/7770169.html