นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วมประกวด โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวรายงานภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย จำนวน 385 ผลงาน จาก 7 เวทีระดับนานาชาติ ณ สวิสเซอร์แลนด์ มาเลเซีย โปแลนด์ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า การส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีนานาชาติ เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานและแสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก ตลอดจนผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีนานาชาติ ซึ่ง วช. ได้ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ในการเสนอชื่อและคัดเลือกผลงานจากประเทศไทยสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงนิทรรศการ...ขอขอบคุณสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
.
โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมทีมผู้บริหาร นักวิจัย เข้าร่วมรับมอบประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ด้วย โดย วว. ประสบผลสำเร็จสามารถคว้า 10 รางวัล ในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวาครั้งที่ 49 “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” สมาพันธรัฐสวิส และงานประกวดนวัตกรรม 2024 “The 7th China (Shanghai) Internation Invention & Innovation Expo 2024 ณ นครเซี่ยงไฮ้ จากผลงานพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ดังนี้
.
เทคโนโลยี/นวัตกรรม การจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้รับรางวัล Award for outstanding innovation “Prize of Hong Kong Delegation” รางวัล NRTC SPECIAL AWARD for the Excellent Invention และเหรียญรางวัล GOLD MEDAL
.
นาโนแฮร์โทนิคจากสารสกัดดอกคำฝอย โดยใช้เทคโนโลยีไมโครอิมัลชันของสาร Safflomin A ในสารสกัดดอกคำฝอย เพื่อกระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดการเกิดผมร่วง ได้รับเหรียญรางวัล SILVER MEDAL
.
ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการนอนหลับและบรรเทาอาการกรนด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูไซเร็น ได้รับรางวัล Distinguished Innovation Award จาก King Abdulahziz University และเหรียญรางวัล BRONZE MEDAL
.
ผลิตภัณฑ์เจลลิ่งเพื่อลดรอยแตกลายผิวหนังหน้าท้องด้วยสารสกัดเพปไทด์จากแพะ และเซรั่มที่มีส่วนผสมของสารสกัดเห็ดกักเก็บในระบบนำส่งสารแบบไฟโตโซม เพื่อยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิดปกติ ได้รับเหรียญรางวัล BRONZE MEDAL
.
รวมทั้ง นวัตกรรม “De-BUGs Organic Plus” สารกำจัดแมลงชีวภาพจากเปลือกไข่ ผลงานวิจัยร่วมของ วว. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญทอง Gold medal และรางวัล Leading Innovation Award จากงานประกวดนวัตกรรม 2024 ณ นครเซี่ยงไฮ้
.
ความสำเร็จดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจของ วว. อีกวาระหนึ่ง ในการนำความเชี่ยวชาญ วทน. เข้าไปตอบโจทย์ ช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ในเวทีนานาชาติ วว. พร้อมให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000086792