แฟ้มภาพ - ผู้ป่วยวัณโรคที่โรงพยาบาลในประเทศอินเดีย เมื่อ 24 มี.ค. 2561
“วัณโรค” ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางการหายที่แพร่กระจายได้ผ่านทางละอองเสมหะขนาดเล็ก คือ เป้าหมายการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ในการพัฒนาการทดสอบแบบใหม่ที่จะมาช่วยลดข้อบกพร่องของการวินิจฉัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
.
มิเรลล์ คามาริซา วิศวกรชีวภาพโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (UCLA) เป็นชาวบุรุนดี ประเทศที่ตั้งทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา และเธอได้คิดค้นวิธีที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ในการทดสอบเชื้อแบคทีเรียวัณโรคได้สำเร็จ
.
วิธีที่ว่า คือการใช้ “น้ำตาลป่นแบบผง” ละลายกับน้ำเปล่า หลังจากนั้นนำเสมหะหรือเลือดของผู้ป่วยที่ต้องการทดสอบมาผสม โดยภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้ผลตรวจออกมา
.
มิเรลล์ คามาริซา วิศวกรชีวภาพโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย
คามาริซา อธิบายว่า “ต้นกำเนิดของโครงนี้ คือแนวคิดที่ว่า นำสิ่งที่แบคทีเรียชื่นชอบในการย่อยมาใช้ ในกรณีนี้คือน้ำตาล จากนั้นตรวจด้วยไบโอเซนเซอร์ (Biosensor) แล้วดูว่า จะตอบสนองอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ดีเยี่ยม”
.
ทั้งนี้ Biosensor คือ การตรวจวัดสารเคมีโดยการแปลงสารชีวภาพเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า
.
เทรซี จอห์นสัน คณบดีวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาลัย UCLA (UCLA Life Sciences ชี้ถึงจุดด้อยของวิธีทดสอบเชื้อวัณโรคต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเชื้อ (Culture) ที่จะต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Smear Microscopy) ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อน และการตรวจทางอณูชีววิทยา (Molecular test) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง
.
เทรซี จอห์นสัน คณบดีวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาลัย UCLA
จอห์นสัน กล่าวถึงวิธีตรวจเชื้อแบคทีเรียที่พัฒนาโดยคามาริซา ว่า ทำให้เห็นเชื้อได้ชัดขึ้น แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์ทั่วไป เช่น รุ่นที่ใช้ในคลินิกภาคสนาม ประเทศยูกันดา ก็ยังสามารถตรวจจับเชื้อวัณโรคได้ นับว่าเป็นวิธีที่ “สร้างความเปลี่ยนแปลง” อย่างแท้จริง
.
ผลการทดสอบด้วยวิธีนี้ ยังสามารถจำแนกสถานะของเชื้อแบคทีเรีย ว่า เป็นประเภทมีชีวิต หรือว่า เป็นเพียงซากเท่านั้น อันจะนำไปสู่การระบุว่า ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มแพร่เชื้อหรือไม่ และตรวจได้ด้วยว่า ผู้ป่วยคนนั้นตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ ทั้งยังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงด้วย
.
การทดสอบการติดเชื้อวัณโรคที่ผสมน้ำตาลป่นแบบผงผสมกับเสมหะหรือเลือดของผู้ป่วย ซึ่งได้ผลรวดเร็วและประหยัด
วิศวกรชีวภาพโมเลกุลจาก UCLA ผู้คิดค้นวิธีนี้อธิบายว่า เมื่อทำการทดสอบในจำนวนมาก น้ำตาลผงที่ใช้ต่อการทดสอบหนึ่งครั้ง จะมีราคาที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ หรือว่าราว 36 บาทเท่านั้น
.
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งความก้าวหน้าในการคัดกรองนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การลดลงของตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อวัณโรคต่อไป
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/new-test-developed-at-ucla-will-be-game-changer-in-tuberculosis-diagnostics/7696174.html