ภาพมุมสูง : สภาพน้ำท่วมหนักที่จังหวัดเชียงราย จากพายุยางิ โดยมีสาเหตุจากภาวะโลกเดือดซ้ำเติมให้ทวีความรุนแรง
ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงขึ้น พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” พัดถล่มทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นานนับสัปดาห์ โดยเฉพาะ เวียดนาม ไทย ลาว และเมียนมา ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตทะลุ 200 ราย และยังส่งผลกระทบต่อประชาชนนับล้านทั่วภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง และไหลเชี่ยวเป็นเวลาหลายวันได้กวาดแทบทุกสิ่งอย่างไปจากชีวิตปกติของพวกเขา
.
โลกเดือด ก่อภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น
เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นดังกล่าว ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงจนมาถึงในระดับวิกฤต (กระทบต่อการดำเนินชีวิต) โดยมีต้นตอสำคัญ คือกิจกรรมของมนุษย์ที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในปีนี้ถือว่า สร้างผลกระทบรุนแรงในรอบทศวรรษ และพายุที่ก่อนตัวก็เกิดถี่ขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา
.
ฝนมรสุมมักถล่มพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกปี แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของน้ำมือมนุษย์ ทำให้รูปแบบของสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในระดับที่ทำลายล้าง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ไต้ฝุ่นก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น และอยู่บนบกได้นานขึ้น
.
UNDP ย้ำแผนรับมือโลกเดือดเป็นเรื่องเร่งด่วน
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP เปิดเผยว่า กรณีสถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายและหลายจังหวัดภาคเหนือสะท้อนภาวะโลกรวน ที่หลายพื้นที่กำลังเจอกับฝนตกหนัก อากาศแปรปรวน สอดคล้องกับรายงานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ชี้ว่าโลกรวนทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเจอกับสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่สุดในปี 2023 เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำของแม่น้ำโขงลดลง
.
ขณะที่ รายงานแห่งชาติ (NC4) ชี้ว่า ภาคอีสานและภาคเหนือเสี่ยงภัยพิบัติหนัก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตล้มเหลว กระทบปากท้องเกษตรกร สัตว์สูญพันธุ์ จนถึงน้ำปนเปื้อนที่นำไปสู่โรคระบาด
.
ทั้งนี้ ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกรวนในระยะยาวจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงระหว่างปี พ.ศ. 2543-2562 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของทั้งโลกแต่แบกรับผลกระทบหนักมาตลอด โดยหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือเกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ที่คิดเป็น 1 ใน 6 ของคนไทย
.
ความเสี่ยงของประเทศไทยตอกย้ำว่า แผนการรับมือกับภาวะโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ปัญหาผ่านหลายแนวทาง เช่น งบประมาณที่ต้องบูรณาการเรื่องโลกรวนเพื่อให้เราตั้งรับได้ นโยบายของทุกภาคส่วน ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ที่ต้องมองเรื่องโลกรวนเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัย ไม่มองแยกขาดจากกัน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน หนทางที่ประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกรวน จนถึงปรับแนวทางภาคเกษตรให้สอดรับและยืดหยุ่นกับผลกระทบและความเสี่ยง
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000086477