สกสว.เปิดเวทีโชว์
3 เทคโนโลยีการจัดการน้ำ
จากทีมวิจัย สสน.กรมชลประทาน และ วช.
มุ่งบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนใช้น้ำ โดยเฉพาะการเพาะปลูก
และรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นหลัก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ลุกขึ้นเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่
.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำเสนอเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2567 ประกอบด้วย “การพัฒนาระบบคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการบริหารจัดการน้ำในช่วงไม่เกินฤดูกาลสำหรับประเทศไทย” ซึ่งมี ดร.กฤตนัย ต่อศรี หัวหน้างานกลุ่มงานภูมิอากาศและสภาพอากาศ ฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นหัวหน้าโครงการ ทำงานร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
.
ทั้งนี้ ระบบการคาดการณ์สภาพอากาศรายฤดูกาลย่อย (S2S) ครอบคลุมช่วงเวลา 2-12 สัปดาห์ อยู่ระหว่างการคาดการณ์ระยะสั้นและรายฤดูกาลหรือรายปี ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ที่แม่นยำ ด้วยปัจจัยแปรผันทางบรรยากาศ พื้นผิวดิน และมหาสมุทรที่หลากหลาย อีกทั้งยังเชื่อมโยงการไหลเวียนของบรรยากาศ ปริมาณความชื้นในดิน และอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดฝนและสภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ คณะวิจัยจึงพัฒนาต้นแบบการคาดการณ์สภาพอากาศระยะรายฤดูกาลย่อย โดยใช้เทคนิคแบบจำลองพลวัตที่ผสมผสานการทำงานระหว่างแบบจำลองบรรยากาศ แบบจำลองพื้นผิวดิน และแบบจำลองมหาสมุทร เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์
.
โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน-สถาบันวิทยาศาสตร์โลก รวมถึงประยุกต์ใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อเป็นทางเลือกในการคาดการณ์สภาพอากาศ โดยใช้ข้อมูลดัชนีสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการแปรผันของอุณหภูมิของน้ำทะเล ลมมรสุม และการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆฝน ซึ่งเชื่อมโยงกับการแปรผันของสภาพอากาศในประเทศไทย
.
ทีมวิจัย สสน
โครงการนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ เช่น วางแผนอพยพ จัดเตรียมทรัพยากรฉุกเฉิน และการจัดการน้ำในกรณีของน้ำท่วมหรือภัยแล้ง รวมถึงช่วยให้เกษตรกรใช้ข้อมูลวางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ นอกจากนี้ข้อมูลคาดการณ์ระยะรายฤดูกาลย่อยยังมีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนและประเทศ เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อน หรือระบบชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมหรือภัยแล้ง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำในการผลิต เช่น ภาคพลังงานและการเกษตร สามารถใช้ข้อมูลคาดการณ์เพื่อวางแผนใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
.
การเก็บข้อมูลน้ำฝนของชาวบ้าน / กรวยเปลี่ยนมาตรวัดจากเมตรเป็นลิตร / กระบอกเก็บน้ำฝนในสวน
ด้าน นายพีระพงศ์ รัตนบุรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ 2 ส่วนบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การปรับปรุงโปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน” กล่าวถึงการพัฒนาโปรแกรม Water Management Planning Program for Irrigation (WaPi) ว่าสามารถคำนวณและวิเคราะห์ปริมาณน้ำที่ใช้จริงได้อย่างรวดเร็วและเที่ยงตรง โดยอาศัยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการแสดงผลผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
.
นอกจากนี้ ยังใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์มาช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการวางแผนแบบดั้งเดิม ส่งผลให้การจัดสรรน้ำในพื้นที่ชลประทานมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดจำนวนบุคลากรที่ต้องใช้ในการดำเนินงานและใช้งานได้ง่าย จึงเข้าถึงโปรแกรมได้จากทุกที่ทุกเวลา และยังเชื่อมโยงกับ Reservoir Operation System (ROSIM) เพื่อช่วยคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้อย่างแม่นยำ ทำให้การจัดการน้ำของกรมชลประทานและเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งและน้ำท่วม
.
ข้อมูลสถานการณ์ความเค็มของน้ำพื้นที่จ.สม
ขณะที่นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม
โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่นและจังหวัด เพื่อให้เกิดระบบฐานข้อมูลน้ำเชิงพื้นที่ใน 4 ภูมิภาคสำหรับวางแผนจัดการน้ำและรับมือภัยพิบัติของพื้นที่ ซึ่งคณะวิจัยได้ช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “ฝนฟ้าพยากรณ์ท้องถิ่น” ให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น น้ำฝน โดยเข้าไปในไลน์ OA ที่เป็นฐานข้อมูลแบบเรียลไทน์ และสอนการติดตั้งกระบอกน้ำฝนอย่างง่าย เพื่อประกอบการวางแผนรับมือน้ำท่วมน้ำแล้งและเตือนภัยล่วงหน้าร่วมกับแอปพลิเคชัน Epicollect5 วางแผนน้ำประกอบ Thai Water Plan
.
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันเตือนภัย “ข้อมูลสถานการณ์ความเค็มของน้ำ” ซึ่งแต่เดิมมีจุดวัดที่หน้าอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ได้ย้ายจุดไปอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวกในพื้นที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม คณะวิจัยจึงจัดทำเครื่องวัดน้ำเองในพื้นที่น้ำจืด อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และอำเภอเมือง เพื่อวัดเทียบค่าความเค็ม หากเกินค่ามาตรฐานจะแจ้งให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อให้น้ำมีค่าสมดุล สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ของแต่ละอำเภอ เช่น ชาวคลองโคนที่เลี้ยงหอยเป็นอาชีพหลักสามารถบริหารจัดการน้ำและเปลี่ยนมาเลี้ยงหอยในระบบปิดแทน ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ไม่ต้องรอขอความช่วยเหลือจากรัฐ
.
ระบบสนับสนุนการวางแผนจัดสรรน้ำอิจฉริยะ
กลไกดังกล่าวช่วยให้ อปท. และองค์กรผู้ใช้น้ำลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ มีข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนเพื่อธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพ และวางแผนส่งน้ำได้ตรงเวลา ประหยัด ลดความสูญเสียกว่าร้อยละ 20 เพิ่มพื้นที่บริการน้ำโดยใช้น้ำเท่าเดิม สามารถวางแผนประกอบอาชีพและรับมือน้ำแล้ง-น้ำท่วม-น้ำเค็ม และวางแผนปลูกพืชได้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีนำไปสู่การเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต
.
สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 885,139 ไร่ ครอบคลุม 13 จังหวัด โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 54 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 85 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 53% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 47 ทั้งนี้ปริมาณน้ำฝนยังมีปริมาณสูงในบริเวณแนวภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ขณะที่แนวโน้มน้ำท่าสูงสุดใน 10 วันข้างหน้า (จากวันที่ 24 กันยายน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2567) ระดับน้ำจะสูงขึ้นแต่ยังไม่ล้นตลิ่ง
.
ระบบภูมิสนเทศฝนฟ้าพยากรณ์ท้องถิ่น
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000090666