“ไฮดรัส” (Hydrus) -- โดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบ AI

แนวปะการัง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก กำลังเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวรุนแรงอยู่ และล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ “โดรนใต้น้ำ” ที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำการสำรวจสถานการณ์ใต้ท้องทะเลแล้ว

.

“ไฮดรัส” (Hydrus) คือ โดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบ AI ถูกใช้ในการสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่ตั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียที่ซึ่งมีการพบว่า เกิดภาวะปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

.

ข้อมูลที่โดรน Hydrus เก็บมาได้มีความแม่นยำและต่อเนื่องจึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น

.

โดรนใต้น้ำ “ไฮดรัส” (Hydrus) ถูกใช้ในการสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef

เมลานี โอลเซน หัวหน้าโครงการ รีฟเวิร์คส์ (ReefWorks) จากสถาบัน Australian Institute of Marine Science (AIMS) เผยว่า “ทีมดำน้ำมีวิสัยการมองเห็นที่จำกัด เราได้พัฒนากระบวนการสำรวจ โดยดึงระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาช่วย ทำให้เราขยายการเข้าถึงพื้นที่ที่ลึกลงไป สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อันตรายที่มีสัตว์นักล่าอาศัยอยู่ อย่างเช่น จระเข้ ฉลามหัวบาตร และแมงกะพรุน”

.

Hydrus เป็นโดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เคลื่อนตัวได้มากกว่า 8 กิโลเมตรภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ทั้งยังดำดิ่งได้ลึกถึง 10,000 ฟุต บันทึกวิดีโอด้วยกล้องความละเอียดสูงด้วยความคมชัดระดับ 4K มีระบบโซนาร์ติดตั้งด้านหน้า และนำทางชี้ตำแหน่งด้วย AI

.

ปีเตอร์ เบเกอร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใต้ท้องทะเล จากบริษัท Advanced Navigation ระบุว่า มีการเทคโนโลยีโดรนใต้น้ำที่บริษัทพัฒนามาช่วยสร้างแผนที่สามมิติของแนวปะการังด้วย

.

ปีเตอร์ เบเกอร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใต้ท้องทะเล บริษัท Advanced Navigation

เบเกอร์ เล่าถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า "เรากำลังทำแผนที่แนวปะการัง ร่วมกับสถาบัน AIMS และสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ คือ การสร้างแผนที่แนวปะการังเพื่อตรวจจับความเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ อันจะนำไปสู่การประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างแบบจำลองแนวปะการังทั้งหมด”

.

เขาเสริมว่า ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ คือ ระบบสามารถกลับไปยังตำแหน่งเดิมได้อย่างแม่นยำและบันทึกภาพจากมุมเดียวกันในทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากอย่างมากสำหรับนักดำน้ำที่เป็นมนุษย์

.

ภาพของแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียที่ประสบภาวะฟอกขาว

นับตั้งแต่ปี 1998 มา มีการพบว่า เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวกับแนวปะการัง Great Barrier Reef มากถึง 6 ครั้ง และนักสมุทรศาสตร์เชื่อว่า เหตุดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวปะการังจะกลับมาฟื้นตัวได้หากอุณหภูมิของน้ำลดลง แต่หากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน นั่นก็จะหมายถึงการตายของเหล่าปะการัง

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/underwater-drone-helps-study-coral-reefs/7685642.html