องค์การอนามัยโลกระบุว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพเริ่มขึ้นตั้งแต่การดื่มแอลกอฮอล์หยดแรก
ในหลายภูมิภาคและหลายประเทศทั่วโลก งานเลี้ยงสังสรรค์จะดูเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง หากปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาช่วยสร้างความรื่นเริงสนุกสนาน สำหรับบางคนแล้ว การดื่มไวน์สักแก้วนั้นเป็นเสมือนยาปลุกใจ ที่ช่วยให้เริ่มการสนทนากับคนแปลกหน้าได้ง่ายและลื่นไหลขึ้น จนแอลกอฮอล์กลายเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยในการเข้าสังคมของคนจำนวนไม่น้อยไปโดยปริยาย
.
แม้ผู้คนจะเลือกดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน บ้างก็ดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง บ้างก็ดื่มเพื่อเข้าสังคม และบางคนก็ดื่มเพื่อลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ หรือดื่มเพื่อขจัดความเครียดกดดันที่เผชิญอยู่ก็มี แต่ในสมัยก่อนยังมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ นั่นก็คือ “การดื่มเพื่อสุขภาพ” ซึ่งงานวิจัยในอดีตบางชิ้นเคยระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดเช่นไวน์แดงในปริมาณที่พอเหมาะพอควร จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นได้
.
ทว่าผลวิจัยดังกล่าวได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เพราะปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศชี้แจงใหม่แล้วว่า ไม่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับใดเลย ที่จะปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
.
ด้วยเหตุนี้รายการ “ห่วงโซ่อาหาร” (The Food Chain) ของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส จึงได้เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งได้รวบรวมประโยชน์และโทษของพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว เพื่อให้ได้ทราบโดยทั่วกันดังต่อไปนี้
.
มะเร็งและอัตราการเสียชีวิต
ประชากรเพศชายทั่วโลกบริโภคแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรเพศหญิงถึง 4 เท่า
รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การบริโภคแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกถึง 2.6 ล้านรายต่อปี นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมด้วย
.
ผลการศึกษาโดยละเอียดขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า แม้แต่การบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ก็เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยนิยามของการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับดังกล่าว คือการดื่มไวน์น้อยกว่า 1.5 ลิตร, การดื่มเบียร์ต่ำกว่า 3.5 ลิตร, และการดื่มสุราดีกรีแรงน้อยกว่า 450 มิลลิลิตรต่อครั้ง
.
คำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ไม่มีระดับปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังออกคำเตือนที่เน้นย้ำถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์เป็นพิเศษว่า “ความเสี่ยงต่อสุขภาพของนักดื่มนั้นเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่หยดแรกของแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่ดื่มลงไป”
.
การบริโภคแอลกอฮอล์เริ่มลดลง
ข้อมูลล่าสุดจากรายงานขององค์การอนามัยโลกยังเผยว่า อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวของประชากรโลก โดยรวมแล้วลดลงเล็กน้อยจาก 5.7 ลิตร ในปี 2010 มาอยู่ที่ 5.5 ลิตร ในปี 2019 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ชายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มนักดื่มซึ่งบริโภคแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยถึงปีละ 8.2 ลิตร ในขณะที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยเพียงปีละ 2.2 ลิตรเท่านั้น
.
แอนนา เทต หญิงชาวอังกฤษวัย 44 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลเบิร์กเชียร์ของสหราชอาณาจักร เป็นผู้หนึ่งที่ตัดสินใจเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง เธอเล่าว่า “เมื่อก่อนฉันไม่ได้ดื่มแบบเมาหัวราน้ำ แต่ก็จัดว่าดื่มมากทุกวันศุกร์ ฉันตั้งตาคอยที่จะได้เปิดเบียร์สองสามกระป๋อง ดื่มเหล้าจินสองสามแก้วหลังเลิกงาน หลังจากนั้นก็จะเปิดไวน์สักขวดเพื่อแบ่งกันดื่มกับสามีต่อทันที”
.
ในวันเสาร์การดื่มจัดแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นซ้ำอีก เทตยังบอกว่าบางทีเธอก็ดื่มในวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดีด้วย แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ เธอเริ่มฝึกฝนร่างกายเพื่อเตรียมลงแข่งขันวิ่งมาราธอน ซึ่งโค้ชได้สนับสนุนให้เธอเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง ส่วนสามีของเทตนั้นก็เริ่มออกกำลังกายด้วย เพื่อเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ทำให้ทั้งคู่สามารถลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงได้มากทีเดียว
.
เทตบอกว่า “นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงจริง ๆ ฉันรู้สึกแข็งแกร่งขึ้นและสุขภาพดีขึ้นมาก”
.
อย่างไรก็ตาม บรรดาเพื่อน ๆ ของเทตและสามีออกจะผิดหวังบ้าง เมื่อได้รู้ว่าทั้งคู่จะไม่ร่วมดื่มกับพวกเขาในงานพบปะสังสรรค์อีกต่อไป
.
แต่สำหรับอามีลี ฮาวเอนชไตน์ สาวเยอรมันวัย 22 ปี จากแคว้นบาวาเรีย เธอสามารถใช้แรงสนับสนุนจากเพื่อน ๆ มาช่วยให้เลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้สำเร็จ “ก่อนหน้านี้ฉันรู้สึกว่า การไปเที่ยวกลางคืนจะไม่สนุกเลยหากไม่ได้ดื่ม”
.
“แต่ฉันก็เกลียดอาการเมาค้างด้วย เลยอยากจะเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการตื่นขึ้นมาในวันอาทิตย์โดยไม่รู้ว่าเมื่อคืนทำอะไรลงไปนั้นแย่มาก” ฮาวเอนชไตน์กล่าว เธอยังบอกว่าตอนนี้รู้สึกพอใจมากกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ทำได้ เพื่อลดละเลิกพฤติกรรมการดื่มแบบเดิม ๆ
.
ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ทั่วโลกลดลงเล็กน้อย
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ถูกต้องแน่หรือ ?
ประสบการณ์ของเทตและฮาวเอนชไตน์ ชี้ถึงประโยชน์มหาศาลของการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ที่แทบจะไม่มีข้อเสียปะปนอยู่ด้วยเลย ส่วนดร.ทิม สต็อกเวลล์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการใช้สารเสพติดแห่งแคนาดา ก็แสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนคำเตือนขององค์การอนามัยโลกด้วย โดยเขาระบุว่า “แอลกอฮอล์นั้นเป็นสารเสพติดที่เสี่ยงก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง โดยความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่คุณเริ่มดื่มมันลงไป”
.
ก่อนหน้านี้ดร.สต็อกเวลล์ เคยทำการสำรวจทบทวนงานวิจัยจำนวนมากถึง 107 ชิ้น เพื่อมองหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยกับอัตราการเสียชีวิต ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ ชี้ว่าพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์แม้ในระดับที่ไม่มากนัก ก็สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ปานกลาง (ความน่าจะเป็น 1 ใน 100) หรือเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในระดับต่ำได้ (ความน่าจะเป็น 1 ใน 1,000)
.
อย่างไรก็ตาม การนิยามว่าพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์แบบใดคือการดื่มในระดับปานกลางหรือระดับต่ำ ย่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้น หน่วยงานของรัฐแนะนำให้ดื่มไม่เกิน 14 หน่วยต่อสัปดาห์ ซึ่งหมายถึงแก้วไวน์ขนาดกลาง 6 แก้ว หรือเบียร์ 1 ไพนต์ (pint) ซึ่งมีความจุที่ราว 568 มิลลิลิตร
.
ดร.สต็อกเวลล์ยังบอกว่า ความเชื่อดั้งเดิมที่ถือว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางดีต่อสุขภาพนั้น มีที่มาจากงานวิจัยคุณภาพแย่ ซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยไม่เหมาะสม ตั้งคำถามวิจัยได้ไม่ละเอียดพอ และนักวิจัยละเลยไม่สอบถามถึงพฤติกรรมการดื่มในอดีตของกลุ่มตัวอย่างด้วย ทำให้ปัจจัยสำคัญหลายประการที่กระทบต่อผลการศึกษาถูกมองข้ามไป
.
“คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง มักเป็นผู้ที่มีรายได้สูงกว่าอยู่แล้ว, พวกเขากินอาหารคุณภาพดีกว่า, ออกกำลังกาย, สามารถเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่ดีกว่าได้, สุขภาพฟันก็ดีกว่า, และเอวบางร่างน้อยกว่าด้วย” ดร.สต็อกเวลล์กล่าวอธิบาย
.
คนติดสุราจำนวนมากบอกว่า การเลิกดื่มแอลกอฮอล์นั้นทำได้ยากมาก
แอลกอฮอล์มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ?
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มากับแอลกอฮอล์เป็นปัญหาใหญ่ หรือเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลขนาดนั้น
.
เซอร์ เดวิด สปีเกลฮัลเทอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวิชาสถิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แสดงความเห็นว่า “ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าทำไมเราต้องหมกมุ่นหรือเพียรพยายาม เพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่าการดื่มแค่วันละแก้วสองแก้วเสี่ยงแค่ไหน”
.
ศ.สปีเกลฮัลเทอร์ อธิบายถึงการทำความเข้าใจเรื่องอัตราความเสี่ยงว่า “ไม่มีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย ประโยคนี้ก็เหมือนกับพูดว่า ไม่มีการใช้ชีวิตแบบไหนที่ปลอดภัยนั่นแหละ น่าคิดว่าทำไมไม่มีใครออกมาแนะนำการงดเว้นแอลกอฮอล์ทั้งหมดไปเสียเลย เพราะอันที่จริงแล้ว เราควรต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และโทษของทุกสิ่งอยู่เสมอต่างหาก”
.
ศ. สปีเกลฮัลเทอร์ ตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถของคนเราในการประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งแนะนำว่า “เราควรจะยอมรับว่าทุกคนต่างก็มีเหตุผลที่จะดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อความเพลิดเพลินนั่นแหละ” เขายอมรับกับบีบีซีว่าดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณระดับปานกลาง แต่เขาไม่ใช่สมาชิกของทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนการค้าแอลกอฮอล์ และกลุ่มรณรงค์ต่อต้านแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
.
“ความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นควรจะมีนิยามว่า มันลดอายุคาดเฉลี่ยลง 1% ในทุกครั้งที่ดื่ม ดังนั้นการดื่มในปริมาณพอเหมาะพอควรเพียง 1 แก้วต่อวัน เป็นเวลา 50 ปี จะทำให้อายุขัยที่ควรจะเป็นของคุณสั้นลงไป 6 เดือน หรืออายุสั้นลง 15 นาที ในทุกครั้งที่ดื่มนั่นเอง” ศ. สปีเกลฮัลเทอร์กล่าว
.
ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านสถิติศาสตร์ผู้นี้ยังบอกว่า แม้แต่การดูโทรทัศน์ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือกินแซนด์วิชเบคอน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ดังนั้นเขาจึงต้องการให้ทุกคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วพิจารณาไตร่ตรองเอาเองว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับตนเองกันแน่
.
ด้านดร.ทิม สต็อกเวลล์ ยอมรับว่าตนเองดื่มแอลกอฮอล์บ้าง แต่ก็ไม่อยากแนะนำให้ทุกคนงดเว้นการดื่มไปอย่างสิ้นเชิง
.
“ถ้าคุณคิดว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่สร้างความรื่นรมย์แสนวิเศษ คุณจะต้องรักษาสมดุลการดื่มไว้ให้ดี เพื่อทำให้ความเสี่ยงที่มันจะก่ออันตรายต่อสุขภาพอยู่ในระดับต่ำเสมอ” ดร. สต็อกเวลล์ กล่าวสรุป
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cq5ejvw9wxxo