กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว 6 สถาบันระดับชาติ และยกระดับ 3 หน่วยงานรองรับภารกิจสำคัญ รองรับการแข่งขันเศรษฐกิจระดับโลกและเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ ตามนโยบาย กระทรวง อว. เน้นตอบโจทย์ให้ตรงความต้องการประเทศชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนากำลังคนและเป็นองค์กรแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI)

.

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ปฏิรูปใหญ่และพัฒนาจากเดิมที่เป็นเพียงหน่วยงานให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ สู่การเป็นหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ และนำระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้พัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการของประเทศ สร้างและพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บริการร่วมเพื่อเป็นกลไกในการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน และเตรียมเสนอกฎหมาย พรบ. ส่งเสริมควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการ โดยได้ตั้งเป้าหมายเพื่อยกระดับประเทศไทยให้มีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2572 จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 28 และนำวิทยาศาสตร์สู่การเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของประเทศด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

.

นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย กรมวิทย์ฯบริการได้มีการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 133 ปีตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงาน ได้จัดตั้งสถาบันระดับชาติภายใต้กรมวิทย์ฯบริการ 6 สถาบัน และพัฒนายกระดับอีก 3 หน่วยงานรองรับภารกิจระดับชาติ โดยทุกสถาบันและหน่วยงานจะต้องมีภารกิจในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ วิจัยและพัฒนา เป็นองค์กรด้านวิชาการหลักระดับประเทศและนานาชาติ และให้การพัฒนาฝึกอบรมหน่วยงานต่างๆ สิ่งสำคัญคือทุกสถาบันและหน่วยงานต้องเป็นองค์กรสมรรถนะสูงทำหน้าที่ขับเคลื่อน “การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน” กรมวิทย์ฯบริการได้เปิดตัวสถาบันและหน่วยงานดังนี้

.

1. สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักของประเทศเพื่อตรวจวิเคราะห์อ้างอิงด้วยความถูกต้องแม่นยำ มีความสามารถตรวจวิเคราะห์ครอบคลุมทุกชนิดการตรวจวิเคราะห์พร้อมระบบส่งต่อตัวอย่างไปยังเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ทำหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาที่น่าเชื่อถือ ช่วยส่งเสริมการส่งออกของสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับชาติ

2. สถาบันพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ เป็นหน่วยงานสำคัญที่ยกระดับห้องปฏิบัติการทั่วประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานพร้อมสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บริการร่วมที่เข้มแข็งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับแห่งชาติ ที่จังหวัดระยอง

3. สถาบันพัฒนามาตรฐานและตรวจสอบรับรอง ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยระบบมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรมชั้นนำเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานหลัก เช่น อย. สมอ.

4. สถาบันพัฒนานักวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศเพื่อพัฒนากำลังคนที่ปฏิบัติงานให้มีสมรรถนะที่สามารถทำงานได้จริง

.

5. สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาศาสตร์บริการ ทำหน้าที่ในการพัฒนาและสนับสนุนระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์สำหรับภารกิจวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น ห้องปฏิบัติการ AI

6.สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะผสานและบูรณาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่การพัฒนาชุมชน เพื่อการดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มรายได้ให้พี่น้องประชาชน

7. กองยุทธศาสตร์และแผนงานทำหน้าที่จัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการระดับชาติ ข้อเสนอแผนและงบประมาณพร้อมการกำกับ ติดตามประเมินผล

8. สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ เป็นหน่วยงานที่เป็นผู้แทนระดับนานาขาติในประเทศไทย ทำหน้าที่ตรวจและให้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น ระบบ ISO 17025, DSS Recognized

9. ยกระดับหน่วยงานระดับกลุ่มงานของกรมวิทย์ฯบริการ เป็นศูนย์บริหารจัดการซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกองภายใต้สำนักงานเลขานุการกรมเพื่อพัฒนาการทำงานสนับสนุนภารกิจวิทยาศาสตร์บริการ ได้แก่ ศูนย์บริหารและอำนวยการกลาง ศูนย์บริหารทรัพยากรบุคคล ศูนย์กฎหมายวิทยาศาสตร์บริการ ศูนย์บริหารคลังและพัสดุ และศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ ภายใต้การปฏิรูปพัฒนาที่เกิดขึ้นนี้

.

กรมวิทย์ฯบริการเชื่อมั่นว่า จะเป็นรากฐานในการทำงานเพื่อการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจไทยซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และการดำรงชีวิตของประชาชนที่มีคุณภาพในทุกมิติ

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9670000102263