วันนี้ (20 พ.ย.) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว่า “โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่และเมือง
โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload) เพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และลดช่องว่างด้านดิจิทัลในหมู่บ้านที่ห่างไกล กระจายทรัพยากรและสร้างโอกาสที่ทั่วถึงเท่าเทียมและเป็นธรรมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ 19 ธ.ค.2560 มีระยะทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 109,467 กิโลเมตร และเพิ่มการเข้าถึงเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลถึง 443,756 จุด”
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลมีเป้าอนาคตที่จะนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันในทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนไทยเข้าสู่ยุคคลื่นดิจิทัล ซึ่งโครงข่ายเน็ตประชารัฐ จะเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าสู่คลื่นดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยปี 2561 กระทรวงฯ ได้เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์ในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ใช้ประโยชน์เชิงอาชีพ สร้างรายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขายออนไลน์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีการอบรมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชน รวมถึงเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการดูแลรักษา สื่อสาร ประสานงาน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ “เน็ตอาสาประชารัฐ” โดยการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่และผู้สนใจทั่วไปให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลระดับหมู่บ้าน เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครทำงานระดับพื้นที่หมู่บ้านเน็ตประชารัฐ ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลการใช้งานเน็ตประชารัฐ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลจากภาครัฐสู่ชุมชนในการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่ประชาชนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลนำไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
นอกจากการพัฒนาประชาชนและชุมชนให้มีความรู้ทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศสู่ดิจิทัลไทยแลนด์แล้ว กระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงข่าย และศูนย์บริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เช่น ศูนย์บริหารจัดการโครงข่าย (Network OperationCenter : NOC) เพื่อดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการระบบโครงข่ายและอุปกรณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการบริเวณจุดติดตั้ง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ศูนย์บริการข้อมูลและรับแจ้งเหตุขัดข้อง ผ่านเลขหมาย 1111 กด 88 ซึ่งรับแจ้งเหตุขัดข้องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และเว็บไซต์/เฟซบุ๊กโครงการเน็ตประชารัฐ http://www.netprachart.com และ https://www.facebook.com/netpracharat/
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2561 [https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000115501]