ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ – ถูกกล่าวถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาวะใกล้ตัวและร้ายแรงกว่าที่คิด
หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นระริก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เอเอฟ” (AF : Atrial Fibrillation) คือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ ส่วนมากหัวใจจะเต้นเร็วเกินไป มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที (ปกติจะอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที) จน ส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อของหัวใจห้องบนทั้งสองห้องไม่สัมพันธ์กัน
จากรายงานวิจัยเรื่องผลกระทบของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิก พบว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากถึง 5-6 เท่า หลอดเลือดสมองอุดตัน 2.5-3 เท่า และเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-3 เท่า ภายในปีพ.ศ.2593 มีการคาดเดาว่าจำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียจะมีมากถึง 72 ล้านคน และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีผู้ป่วยมากเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน
อ.นพ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา ธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจริงๆ แล้วมีเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นภาวะนี้คืออายุ และเนื่องด้วยสังคมปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน ไขมันสูง และผู้ที่เคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
อาการโดยทั่วไปของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก ซึ่งมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยออกกำลังกายได้น้อยลง
อ.นพ.ธัชพงศ์กล่าวต่อว่า เนื่องจากอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยครั้งไม่ชัดเจนเหมือนโรคหัวใจชนิดอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่คิดว่านั่นคือความผิดปกติที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่มาหาหมอครั้งแรกด้วยอาการอัมพาต บ้างมาด้วยอาการหัวใจล้มเหลวจากภาวะน้ำท่วมปอด
ศาสตราจารย์ภิชาน นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษ ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร.พ.บำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในปัจจุบันนับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก การรักษามี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
1.ใช้ยาเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอย่างยาละลายลิ่มเลือดควบคู่กับการควบคุมการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป หรือการใช้ยาเพื่อให้หัวใจเต้นเป็นปกติตลอดเวลา กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย ร่างกายจะไม่ตอบสนองกับยากลุ่มหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้นยาทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาอาการให้หายขาด ยังคงมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคต่างๆ ที่อาจตามมาอยู่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาตลอดชีวิตอีกด้วย ก่อให้เกิดปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
2.จี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ นับเป็นวิทยาการล่าสุดและมีวิธีกระบวนการรักษาที่ต่างกันออกไปแล้วแต่เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น เป็นการรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุผนวกกับการจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ 2 ห้องบนพร้อมประมวลผลและแสดงความซับซ้อนของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ โดยใช้สีเพื่อจำลองหัวใจผู้ป่วยให้เสมือนจริงมากที่สุด ทำให้การหาตำแหน่งและจี้ทำลายจุดที่ก่อให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชัดเจนและแม่นยำขึ้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุโดยตรง ทำให้การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถหายขาดได้ อายุยืนขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีโอกาสน้อยกว่า 3-4% ที่อาการจะกลับมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย
คุณหมอทั้งสองท่านกล่าวเหมือนกันว่า เราควรตรวจดูชีพจรหรืออัตราการเต้นของหัวใจเป็นประจำ เพราะหากตรวจเจอเร็วก็จะสามารถรักษาได้แต่เนิ่นๆ เปอร์เซ็นต์การหายขาดก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่ที่สำคัญที่สุดเราควรมีวินัยในการดูแลสุขภาพตัวเอง ป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะตามมา
ที่มา : Khaosod 2 ธันวาคม 2562 [https://www.khaosod.co.th/sci-tech/news_3101798]